“พาณิชย์”เผย“ยานยนต์ไฟฟ้า”บูมต่อเนื่อง ชี้เป็นโอกาสดึงลงทุน เพิ่มส่งออกตลาดโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”เผย“ยานยนต์ไฟฟ้า”บูมต่อเนื่อง ชี้เป็นโอกาสดึงลงทุน เพิ่มส่งออกตลาดโลก

img


“พาณิชย์”เผย“ยานยนต์ไฟฟ้า”บูมต่อเนื่อง ชี้เป็นโอกาสดึงลงทุน เพิ่มส่งออกตลาดโลก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินกระแส “ยานยนต์ไฟฟ้า” ทั่วโลกบูมต่อเนื่อง คาดยอดจำหน่ายปี 73 จะพุ่งขึ้นเป็น 25 ล้านคัน เผยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องก็จะโตตาม ชี้เป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อ ระบุจะส่งผลดีต่อการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ได้เพิ่มขึ้น
         
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกระแสความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สอดรับกับนโยบายรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับมีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยสามารถมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ ตั้งแต่การผลิตและการค้ายานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ไปจนถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ
         
ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล ในปี 2562 ทั้งโลกมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) ที่ใช้ทั้งน้ำมันและแบตเตอรี่แบบเสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว (Battery Electric Vehicle: BEV) รวมประมาณ 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% และมียอดจดทะเบียนทั้งโลกรวม 7.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40% และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก (รวมรถยนต์ขนส่งบุคคล รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถประจำทาง และรถบรรทุก) จะสูงถึงประมาณ 25 ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ 140 ล้านคัน โดยคาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดจำหน่ายและจำนวนสะสมสูงสุด และตลาดที่จะขยายตัวชัดเจน คือ จีน ยุโรป สหรัฐฯ  และอินเดีย

นอกจากนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่ทำให้ยานยนต์สามารถตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้หลายหลายใกล้เคียงกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนไปเป็นแบบวงล้อ (Hub and Spoke) ที่ผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (ระบบเซนเซอร์รอบคันสำหรับการขับขี่อัตโนมัติ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เนตและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายอื่นๆ) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค. ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างการค้าของโลกและไทยกลุ่มสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท คือ PHEV (พิกัด 870860, 870870) BEV (พิกัด 870380) และ HEV หรือยานยนต์ไฮบริดแบบไม่มีที่เสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้า (พิกัด 870340, 870350) และกลุ่มชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก 20 รายการ (ตามรายงานการศึกษาของสถาบันยานยนต์) พบว่า ในปี 2562 การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของทั้งโลกมีมูลค่ารวม 70,817 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 55% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของโลกอยู่ที่ 450,222 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย 0.45% โดย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (เป็นผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน) รวมทั้งเป็นตลาดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพ

สำหรับประเทศไทย ในปี 2562 ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า (HEV, PHEV และ BEV) เป็นมูลค่า 128.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 69% แต่กลับมาขยายตัวถึง 155% ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 309.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกรถ HEV ไปตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ สำหรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย มีมูลค่า 6,887 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 และ 4,145 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ลดลง 6% และ 22% ตามลำดับ) โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน
         
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก และกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ต้องการผันตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และทำให้เป็นได้ทั้งฐานการผลิตและตลาดที่มีศักยภาพ โดยแสวงหาพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลก ก็จะส่งผลให้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำ และเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากขึ้น

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ และส่งเสริมการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสในประเทศใหม่ๆ เช่น เม็กซิโก ที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ผ่านความตกลง USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือเยอรมนี เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป ตลอดจนพิจารณาการลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้า และลดความเสี่ยงกรณีที่ค่ายรถจากประเทศอื่นเข้าไปลงทุนผลิตและจำหน่ายในตลาดเหล่านั้น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากการเชื่อมโยงภาคเอกชนจากประเทศผู้ผลิตหลักกับผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้า ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นแล้ว ยังสามารถมีบทบาทในการผลักดันการเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจการค้าเพื่อเปิดตลาดสำคัญและเชื่อมโยงการลงทุนกับประเทศผู้ผลิต อีกทั้งส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ไปยังคู่ค้าสำคัญและตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มต้องการยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับตลาดศักยภาพต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้) เอเชียใต้ (อินเดีย) ออสเตรเลีย อาเซียน (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และสหรัฐฯ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่ไทยผลิตได้ เช่น จักรยานยนต์ (จีน อินเดีย) รถโดยสารประจำทาง (จีน อินเดีย ยุโรป) ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการด้านแบตเตอรี่ การซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า ธุรกิจแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการผลิตและการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐและข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad