ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

    


ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน       

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ตอกย้ำเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหาร และขับเคลื่อนองค์กรดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งมั่นเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดปริมาณอาหารสูญเสียในกระบวนการผลิต   (Food Loss)  และขยะอาหาร   (Food Waste) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ได้การรับรอง สู่กระบวนการผลิตที่ยั่งยืน                      
                         
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า  ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยและประชากรโลก  โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า  เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก  ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย  พร้อมมุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์  (Net – Zero  Carbon) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050)           
 
                       
ในปี 2564  บริษัทฯ มีแผนประกาศกลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืน ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)  โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน   การจัดซื้อวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มุ่งเน้นกระบวนการผลิตอาหารยั่งยืน  การลดปริมาณอาหารสูญเสียในกระบวนการผลิต และขยะอาหาร และการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ                                                         
ในส่วนของนโยบายด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ยังคงดำเนินการตามนโยบายต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2563   โดยธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ฟาร์มปศุสัตว์ (Farm) และ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป (Food) ปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น  26 % ของการใช้พลังงานทั้งหมดของซีพีเอฟ ซึ่งมาจากโครงการโซล่าร์ รูฟท็อป (Solar  Rooftop)  ติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน  24 แห่ง  และ โครงการโซล่าร์ ฟาร์ม  (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดินในฟาร์มสุกร  16 แห่ง ซึ่งจะขยายสู่ทุกฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั่วประเทศ                     
  


      
นโยบายลดการใช้พลาสติกยังเป็นเรื่องหลักที่ต้องดำเนินการตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้สำหรับกิจการในประเทศไทย จะต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือนำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable)  หรือย่อยสลายได้ (Compostable)  100 % ภายในปี  พ.ศ. 2568 และสำหรับกิจการในต่างประเทศ ภายในปี พ.ศ.  2573  ขณะที่ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯสามารถนำมาใช้ซ้ำและนำมาใช้ใหม่ได้ 99.99 %     
      
 
ด้านกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน บริษัท ฯ ได้ประกาศนโยบายการจัดการอาหารสูญเสียและขยะอาหาร (Food Loss and Food Waste Policy) ในปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญในการลดปริมาณการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต  และของเสียจากการเหลือทิ้ง โดยทำโครงการนำร่องในธุรกิจไก่เนื้อและไก่ไข่ เพื่อเป็นต้นแบบของการดำเนินงานให้กับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ           
    
นายวุฒิชัย ยังได้กล่าวถึง  ภาพรวมการดำเนินงานด้านความยั่งยืน  ในปี พ.ศ.  2563 บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 4   ด้านหลัก  ได้แก่  ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต  15 % เมื่อเทียบปีฐาน 2558  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต 15 %  เทียบปีฐาน 2558   ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 25% เทียบปีฐาน 2558  มาจากการลดการนำน้ำมาใช้ของสายธุรกิจสัตว์น้ำ  โดยใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในฟาร์มกุ้ง  และการลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบต่อหน่วยการผลิต 30 % เทียบปีฐาน 2558        
 
   
   
นอกจากนี้  บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบทางการเกษตร ไม่ได้มาจากแหล่งที่มีการบุกรุกป่า   โดย 100 % ของคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครื่องปรุง  และบรรจุภัณฑ์ได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน   พร้อมกันนี้  ซีพีเอฟส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานตามหลักสากลในด้านสิทธิมนุษยชน  ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต    ช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางได้รับการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า   50,000  ราย เป็นต้น             
        
 “ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซีพีเอฟ ยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการใช้มาตรการป้องกันความปลอดภัยสูงสุดกับพนักงาน แรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ คู่ค้าและในกระบวนการผลิต 
เพื่อให้การผลิตอาหารดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้กับคนไทยและประชากรโลกได้เข้าถึงอาหารที่มีสุขโภชนาการและสุขภาวะที่ดีอย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์  โดยสนับสนุนอาหารให้กับแพทย์ พยาบาล  โรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด  ผู้กักตัว ฯลฯ  เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดการแพร่กระจายของโรค”  นายวุฒิชัย กล่าว     

 
ซีพีเอฟ  กำหนดเป้าหมายดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน 3  เสาหลัก  คือ  อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่  โดยมีการทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี  ซึ่งในปี  2563  จัดทำรายงานเป็นปีที่ 7  และในปีนี้  ซีพีเอฟยังคงเดินหน้าสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ./            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad