นับถอยหลัง “คิกออฟ RCEP” เพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุน 5 แสนล้าน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

นับถอยหลัง “คิกออฟ RCEP” เพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุน 5 แสนล้าน

 นับถอยหลัง “คิกออฟ RCEP” เพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุน 5 แสนล้าน

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) จะผ่านการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีกราว 6 เดือนข้างหน้า โดยประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งประกอบไปด้วย อาเซียน 10 ประเทศ+จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ยกเว้น “อินเดีย” ที่ยังไม่ยอมร่วมลงนาม ต่างเตรียมความพร้อมที่จะเปิดตลาดสินค้ากลุ่มแรก คิดเป็นสัดส่วน 80% ของจำนวนสินค้าที่ตกลงกันว่า จะลดภาษีนำเข้าทั้งหมด โดยในจำนวนนี้จะมีสินค้ากลุ่มแรก สัดส่วน 65% ที่จะต้องลดภาษีเป็น 0% ทันที และอีก 15% จะทยอยลดภาษีเป็น 0% ภายใน 10-15 ปี ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นสินค้าในกลุ่มอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง จะยังไม่ลดภาษีเป็น 0% อาจจะต้องมีการเจรจากันในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดจะทำให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย มีโอกาสขยายการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 2,252 ล้านคน หรือคิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก GDP รวมกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของ GDP โลก จนเรียกได้ว่า RCEP เป็นความตกลงค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด “แซงหน้า” ความตกลง CPTPP ที่มีประชากร 501.8 ล้านคน GDP 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปหลายเท่าตัว

ที่ผ่านมา ไทย-RCEP มีการค้ากันในปี 2562 มูลค่า 287,206.3 ล้านเหรียญ โดยไทยส่งออก 140,468.9 ล้านเหรียญ และนำเข้า 146,737.4 ล้านเหรียญ มีการลงทุนโดยตรง (FDI) ระหว่างกันภายใน RCEP สูงถึง 372,216 ล้านเหรียญ การขับเคลื่อนความตกลง RCEP ในช่วงเวลานี้จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเศรษฐกิจให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ในที่สุด

เพิ่มโอกาสส่งสินค้าเกษตร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศอยู่แล้ว แต่ RCEP จะให้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ โดยเฉพาะโอกาสเข้าสู่ตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทย ที่ในความตกลง FTA ไม่มี หรือยังมีน้อย เช่น จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ได้ “ยกเลิก” ภาษีศุลกากรสินค้าไทยเพิ่มจากกรอบอาเซียน +1 เดิม “ซึ่งจะส่งผลดีมากกับกลุ่มสินค้าเกษตร” โดยแบ่งเป็น

1) จีน ลดภาษีเพิ่มให้ พริกไทย, สับปะรดกระป๋อง, น้ำสับปะรด, น้ำมะพร้าว 2) ญี่ปุ่น อาทิ ผักแปรรูป (มะเขือเทศ-หน่อไม้ฝรั่ง), แป้งสาคู, ผลไม้สด/แห้ง/แช่แข็ง (ส้ม-สับปะรด), น้ำมันถั่วเหลือง, สินค้าประมง, น้ำส้ม, น้ำผลไม้ผสม และ 3) เกาหลีใต้ อาทิ ผลไม้สดหรือแห้ง (มังคุด ทุเรียน), ข้าวโพดหวานแปรรูป, แป้งมันสำปะหลัง, น้ำมันรำข้าว, สับปะรดแปรรูป, น้ำสับปะรด และสินค้าประมง

กลุ่มอาหารลดภาษี 0%

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป, อาหารกระป๋อง, ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้กระป๋อง เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทันทีเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก เนื่องจากสินค้าไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้สดทั้งทุเรียน, มังคุด, ลำไย, มะพร้าว, มะม่วง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมพร้อม เนื่องจากสินค้าผักผลไม้ในกลุ่มนี้มีอายุการวางจำหน่ายสินค้าค่อนข้างสั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ และต้องยอมรับว่าในกลุ่มสมาชิก RCEP มีทั้งคู่แข่งและคู่ค้า ดังนั้น ไทยต้องปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าพรีเมี่ยม คุณภาพสูง เลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา

ข้าวสินค้าอ่อนไหวสูง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สินค้าข้าวอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP เท่าที่ควร เนื่องจาก “ข้าว” ยังถูกจัดให้เป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง อาจจะมีการลดภาษีนำเข้าไปอยู่ระหว่าง 20-30% ไม่น่าจะลดถึง 0% โดยจะขึ้นอยู่กับการเจรจาแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันข้าวมีทั้งคู่แข่งและคู่ค้ากับข้าวไทย โดยเมื่อมีการปรับเงื่อนไขหรือลดภาษี นั่นหมายถึงคู่แข่งในกลุ่ม RCEP เช่น เวียดนาม-กัมพูชา-เมียนมา ก็จะได้รับประโยชน์เช่นเดียวกันกับข้าวไทย และหากนับรวมปัจจัยด้านอื่น ประเทศคู่แข่งข้าวไทยถือว่า “มีความได้เปรียบกว่าข้าวไทย” ดังนั้นการจะแข่งขันด้านราคาจะลำบากมากขึ้น

ขณะที่คู่ค้าสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย-จีน-สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ หากแยกตลาดจะพบว่า ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ มีมูลค่าซื้อข้าวน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญ ส่วนตลาดส่งออกหลักอย่างฟิลิปปินส์ แม้จะเปิดเสรี แต่ยังมีการจำกัดปริมาณโควตาภาษี 35% หากส่งออก “มากกว่า” โควตา ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 55% ส่วนอินโดนีเซียภาษีนำเข้าสูงถึง 50% มาเลเซียแม้จะเป็นประเทศที่ไม่มีภาษีนำเข้าข้าว แต่ระบบการนำเข้ากำหนดให้เฉพาะรัฐบาลเป็นผู้นำเข้าด้วยวิธีการประมูล หรือนำเข้าข้าวที่ราคาถูก เช่นเดียวกับจีน ตลาดใหญ่ แต่ก็จำกัดโควตานำเข้าข้าวอยู่ที่ประมาณ 200 หยวน/ตัน

บูมลงทุนโรงงานยาง

ส่วน นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า สินค้ายางพาราหลัก ๆ จะส่งออกไปยังตลาดจีน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการส่งออกทั้งหมด เดิมจะใช้การลดภาษีในกรอบอาเซียน-จีน ที่กำหนดให้สินค้ายางแผ่น-ยางแท่งจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 20% และมีอัตราภาษีตามราคาขั้นต่ำที่ 1,400 หยวน หรือประมาณ 10% ทำให้ผู้ส่งออกไทยจะไม่ส่งออกยางประเภทดังกล่าว แต่จะเน้นการส่งออก “ยางคอมพาวนด์” ที่สัดส่วน 99% ซึ่งภาษีนำเข้าเป็น 0% ส่วนถุงมือยางก็มีอัตราภาษี 0% เช่นกัน

“สินค้ากลุ่มยางแผ่น-ยางแท่งในกรอบ RCEP ไม่ได้ลดหรือเพิ่มขึ้นจากกรอบอาเซียน-จีน แต่ RCEP จะลดภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ โดยเฉพาะล้อยาง”

อีกด้านหนึ่งข้อตกลง RCEP จะให้ประโยชน์ในด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมถุงมือยาง ซึ่งความตกลงฉบับนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อใช้วัตถุดิบในประเทศไทยผลิตและส่งออกไปยังตลาดกลุ่ม RCEP

สอดคล้องกับมุมมองของนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่เห็นว่า RCEP จะเป็นโอกาสสำคัญของการลงทุนระหว่างสมาชิก ที่ผ่านมามูลค่าด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนและจีน แม้ว่าช่วงภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบให้หดตัวบ้าง แต่อนาคตยังมีการเติบโตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเด่น ๆ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, ดิจิทัล, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad