องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต

 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต ภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอ “โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ” วงเงิน 2,560 ล้านบาท เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)                เพื่อเป็นแบบอย่างในการแสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

วันนี้ (10  กุมภาพันธ์  2564) เวลา 09.00 น. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดย                   นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดย นายประจักษ์  บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ              ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต โดยมีนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน จากนั้นได้มี              พิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โครงการก่อสร้างอาคาร            ที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ) กับ กิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) โดยมี                     รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค  เป็นผู้นำทีมผู้สังเกตการณ์ ณ ห้องดำริอิศรานุวรรต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน



นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ สตง. เป็นหน่วยงานหลักที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเรื่องการต่อต้านการทุจริต โดยตระหนักถึงการป้องกันและปรามปรามการทุจริต และเสริมสร้างความร่วมมือภายในองค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  และเนื่องจาก สตง. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จึงได้เสนอ “โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ” เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อเป็นแบบอย่าง               ในการแสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประสานความร่วมมือในการตรวจสอบการดำเนินงาน ป้องกันการทุจริต และการร่วมเสริมสร้างทัศนคติค่านิยมในความซื่อสัตย์ สุจริต อันจะส่งผลต่อการลดปัญหาการทุจริตของประเทศให้น้อยลง และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนต่อไป    

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร               ที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563  ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท จากนั้นได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด  บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงาน                ด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท

“ในการดำเนินโครงการดังกล่าว สตง. ได้ยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประหยัดและความคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กล่าวคือ สตง. ได้ดำเนินการจัดหา               ผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคา  ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท จึงคิดเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่าราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad