กระทรวง อว. ชูนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง โชว์ผลงานวิจัย “Space Walker” นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กระทรวง อว. ชูนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง โชว์ผลงานวิจัย “Space Walker” นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ


Resize of 4264 210204

           กระทรวง อว. ชูนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง โชว์ผลงานวิจัย “Space Walker” นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ลดการนำเข้าและยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์

 กระทรวง อวชูนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริงโชว์ผลงานวิจัย “Space Walker” นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ลดการนำเข้าและยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้าน TED Fund เปิดโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) ปี พัฒนาเยาวชนไปสู่สตาร์ทอัพ มุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ดีเดย์เปิดรับสมัครมีนาคมนี้ พร้อมจัดตั้ง “TED Fellow” เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ32 แห่งทั่วประเทศ เปิดแนวรุกกระจายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพทั่วประเทศ

Resize of 4264 210204 4

            ผศ.ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของกระทรวง อว. คือ การวางรากฐานในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการมุ่งเน้นให้นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ด้วยการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งผลให้เกิดการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) โดยเปลี่ยนจาก “Made in Thailand” เป็น “Innovated in Thailand” เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และในปี 2564 นี้ กระทรวง อว. ยังได้มุ่งเน้นในการสร้างคนควบคู่ไปกับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้และดำเนินธุรกิจบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเปลี่ยนนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

Resize of 4264 210204 0  

 “โดยปกติแล้วการจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรม จะถูกจัดสรรผ่านกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ไปยังนักวิจัยทั่วประเทศ ผ่านหน่วยบริการจัดการโปรแกรม (pmu) และจัดสรรตรงไปยังมหาวิทยาลัย ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือต้องการนำผลงานวิจัยออกมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ กระทรวง อว. ก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกันจึงมีการสนับสนุนทุนผ่าน TED Fund”

ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 - 4 ปีที่ผ่านมา TED Fund ได้สนับสนุนเงินทุนไปแล้วจำนวน 259 โครงการ ในวงเงินงบประมาณรวมกว่า 360 ล้านบาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 650 ล้านบาท นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของประเทศไทย ในการที่จะสร้างฐานนักรบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลก และกระทรวง อว. โดย TED Fund จะเร่งสปีดในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายเชิงรุก โดยตั้งเป้าสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการกว่า 300 โครงการในปี 2564

Resize of 4264 210204 5  Resize of 4264 210204 3

            ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และประธานกรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เปิดเผยว่า สำหรับปีงบประมาณ 2564 นี้ TED Fund เตรียมเปิดโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Youth Startup Fund ปี 2 ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และมุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) คือ นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี - ปริญญาเอก และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ที่ต้องการขอรับการสนับสนุนทุนในการนำผลงานวิจัยออกมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ หรือสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดย TED Fund จะสนับสนุนทุนในวงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อราย

            นอกจากนี้คณะผู้บริหารกองทุนฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการทั่วประเทศ จึงได้จัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ TED Fellow จำนวน 32 หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนครอบคลุมทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคกลาง จำนวน 15 หน่วยงาน, ภาคเหนือ จำนวน 7 หน่วยงาน, ภาคอีสาน จำนวน 5 หน่วยงาน และภาคใต้ จำนวน 5 หน่วยงาน โดย TED Fellow จะมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาวางแผนและบริหารการจัดการโครงการ การตลาด การประชาสัมพันธ์ รวมถึงประสานงานระหว่าง TED Fund กับผู้รับการสนับสนุนทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถมีความรู้พื้นฐาน นำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้สำเร็จ

Resize of 4264 210204 1  Resize of 4264 210204 2

            ด้าน ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น แบ่งโปรแกรมการสนับสนุนออกเป็น 2 โปรแกรมสำคัญ ดังนี้

            1. โปรแกรม Ideation Incentive Program (IDEA) เป็นทุนอุดหนุนแบบให้เปล่า เพื่อเป็นค่าพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 6 เดือน โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ในสัดส่วนร้อยละ 100

            2. โปรแกรม Prove of Concept (POC) ทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อพัฒนาต้นแบบซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้วงเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นนักศึกษาซึ่งมีสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี พร้อมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศ

4264 210204 7  Resize of 4264 210204 6

ด้านนายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจาก TED Fund  ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ “Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด กล่าวว่า ผมได้นำงานวิจัยของตัวเองจากทำวิทยานิพนธ์ ของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการออกแบบโครงช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน โดยทุนสนับสนุนจาก TED Fund ได้เข้ามาช่วยใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. สนับสนุนการวิจัยสร้างอุปกรณ์ต้นแบบอุตสาหกรรม : ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ฝึกเดิน และทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรม

2. จัดทำโรงงานมาตรฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ : ช่วยเหลือและสนับสนุนในการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในการขอรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 Series  และ 3. ที่ปรึกษาด้านการตลาด : ช่วยเหลือและสนับสนุนในการวางแผนธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาด เพื่อพัฒนาธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์สามารถแข่งขันในตลาดได้จริง โดยล่าสุดมีแผนที่จะต่อยอดด้วยการสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ “WOKA” อีกด้วย

ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันนวัตกรรม “Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด มีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศที โดยราคาอุปกรณ์กายภาพบำบัดของต่างประเทศที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกันมีราคาสูงถึง 5 ล้านบาท แต่ลักษณะการทำงานไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านเรา โดยบริษัทสามารถผลิตได้ในราคาประมาณ 6 หมื่นบาทเท่านั้น และออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในงานในบ้านเรา ซึ่งเป็นลักษณะของการฝึกที่บ้าน  เพราะเรามองว่าการกายภาพบำบัดต้องมีความต่อเนื่อง หรือทำเป็นประจำทุกวัน โดยปัจจุบันได้ผลิตและจำหน่ายไปยัง 60 สถานพยาบาลทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ส่งออกผลต่อการยืน/เดิน และ กายภาพบําบัดในผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาตครึ่งท่อน พาร์กินสัน เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครทุนได้ที่www.tedfund.mhesi.go.th หรือเพจ Facebook : TED Fund หรือโทร 02 333 3700 ต่อ 4072-4074

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad