นิ่วในไต สังเกตทัน รีบรักษาก่อนไตพัง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

นิ่วในไต สังเกตทัน รีบรักษาก่อนไตพัง

 นิ่วในไต สังเกตทัน รีบรักษาก่อนไตพัง 

            องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันไตโลก (World Kidney Day) รพ.กรุงเทพ ขอร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องไตให้ห่างไกลโรค นิ่วในไตเป็นสาเหตุสำคัญของโรคที่เกี่ยวกับไต สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ผู้ชายมีโอกาสพบได้มากกว่าผู้หญิง และช่วงวัยที่พบส่วนใหญ่คือ อายุ 30 - 40 ปี หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษา อาจเกิดการติดเชื้อจนเนื้อไตเสีย เกิดอาการไตเสื่อมและไตวายเรื้อรังได้ในอนาคต ควรปรึกษาแพทย์ รีบรักษาก่อนอาการรุนแรง 

 

         นพ.สมเกียรติ พุ่มไพศาลชัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นก้อนที่มีชนิดและขนาดแตกต่างกัน โดยมักพบที่บริเวณกรวยไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมาจากปัสสาวะเข้มข้นและตกตะกอนเป็นนิ่ว ซึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำได้ 




         การมีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติมีสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารแคลเซียม โปรตีน เกลือ และน้ำตาลสูงเกินไป ดื่มน้ำน้อย ใส่น้ำตาลในเครื่องดื่มมาก หรือ กินอาหารที่มีสารออกซาเลตยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม อาทิ ถั่ว หน่อไม้ ช็อกโกแลต ผักปวยเล้ง มันเทศ ฯลฯ กินวิตามินซีมากเกินกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัม ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานหนักมากเกินไป หรือเกิดจากโรคแทรกซ้อนจากการเป็นโรคเกาต์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วนน้ำหนักเกิน และโรคเบาหวาน อาการแสดงคือ ปวดเอวข้างที่มีก้อนนิ่ว ปวดหลังหรือช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะปวดเสียด ปวดบิดเป็นพัก ๆ มีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน มีปัสสาวะขุ่นแดงเป็นเม็ดทราย ปัสสาวะบ่อย หรือเมื่อปัสสาวะแล้วจะเกิดอาการเจ็บ ถ้าก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไตจะมีอาการปวดในท้องรุนแรง แต่ในบางกรณีผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีอาการแสดง  

            การตรวจวินิจฉัยมีหลายวิธี ได้แก่ 1) ตรวจปัสสาวะ หากพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต 2) ตรวจเลือด ผู้ป่วยนิ่วในไต มักมีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดมาก 3) เอกซเรย์ช่องท้อง จะช่วยให้เห็นก้อนนิ่วบริเวณทางเดินปัสสาวะ4) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT Scan) ช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก 4)อัลตราซาวนด์ไต ช่วยตรวจหาก้อนนิ่วในไตได้ชัดเจน 4) ตรวจเอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (IVP) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดนิ่วในไตและสามารถวางแผนเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำ  

         การรักษาอาการนิ่วในไต ใช้วิธีการรักษาตามชนิดและสาเหตุ ได้แก่ 1) รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดหากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมากอาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ โดยแพทย์อาจพิจารณายาช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม 2) การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อย วิธีนี้ควรรักษากับแพทย์ที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด 3) การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการสลายนิ่วที่มีขนาด 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้องUreteroscopy เข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ขับออกมาทางปัสสาวะ4)การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็กๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่อง เพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมา  

 

            ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้ เริ่มจากเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ดื่มน้ำสะอาดให้มากเพื่อช่วยลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่วกินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ เลี่ยงอาหารรสเค็ม ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย ผักก็ช่วยลดโอกาสการเกิดนิ่วได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อค้นหาความเสี่ยง ป้องกันก่อนเกิดโรคได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพโทร. 02-310-3009  หรือโทร. 1719 แอดไลน์ :@bangkokhospital   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad