ไทย-ยูเคเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนการค้า ลงทุนหลังเบร็กซิต ปูทางทำเอฟทีเอ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไทย-ยูเคเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนการค้า ลงทุนหลังเบร็กซิต ปูทางทำเอฟทีเอ

img

ไทย-ยูเคเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนการค้า ลงทุนหลังเบร็กซิต ปูทางทำเอฟทีเอ

“จุรินทร์”เตรียมลงนาม MoU กับรัฐมนตรีการค้ายูเค วันที่ 29 มี.ค.นี้ ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน หลังยูเคออกจากอียู เผยยังเป็นการปูทางสู่การทำเอฟทีไทยไทย-ยูเคในอนาคตด้วย
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 29 มี.ค.2564 ตนมีกำหนดที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ผ่านทางออนไลน์ เพื่อใช้เป็นกลไกความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ ภายหลังจากที่ยูเคได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต)
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ยูเคมีกำหนดออกจากการเป็นสมาชิกของอียูโดยสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.2564 กรมฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเคเป็นระยะ เพื่อร่วมกันทบทวนนโยบายการค้าของ 2 ประเทศ และหาทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน จึงได้ตกลงที่จะทำ MoU เพื่อใช้เป็นกลไกและเวทีที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร อาหาร การเงิน และสุขภาพ เป็นต้น
         
“นายจุรินทร์ จะลงนามใน MoU กับนางเอลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศยูเค ในวันที่ 29 มี.ค.2564 ซึ่งผลจากการลงนาม จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเค เพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนหลังจากเบร็กซิต ทำให้ไทยและยูเค มีช่องทางการพูดคุย หารือกัน และยังเป็นการปูทางไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยูเค ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”นางอรมนกล่าว
         
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับการทำเอฟทีเอไทย-ยูเค ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำเอฟทีเอใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าจะเผยแพร่ให้กับทุกภาคส่วนที่สนใจได้ทำการศึกษาได้ในเร็วๆ นี้ และยังได้เดินหน้าเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอกับยูเคต่อไป ส่วนจะมีการเจรจาได้เมื่อใด ต้องรอความพร้อมของยูเคด้วย 
         
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนจะจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในเรื่องการประกอบธุรกิจและกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคภายหลังเบร็กซิตผ่านทางออนไลน์ เรื่อง “Brexit the Series : โอกาสไทยกับสหราชอาณาจักรนำเทรนด์สุขภาพเจาะตลาดโลก” ในช่วงบ่ายวันที่ 30 มี.ค.2564 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร นวัตกรรม และสุขภาพของไทย เช่น ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บริษัท มอร์ ฟูดส์ อินโนเทค จำกัด และแบรนด์ HydroZitla มาร่วมเสวนาถึงโอกาสและความท้าทายในการร่วมมือกันระหว่างไทย-ยูเคในอุตสาหกรรมดังกล่าว
         
ในปี 2563 ไทยกับยูเคมีมูลค่าการค้ารวม 4,875 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเค 3,087 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวรจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกล และไทยนำเข้าจากยูเค 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad