“สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ลงพื้นที่ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564

“สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ลงพื้นที่ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC

“สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ลงพื้นที่ติดตาม “คุณมาดี”

เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC

พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล

                                                                                                                                                                                                                                                              สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนหนองขาม อำเภอศรีราชา ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบเขต EEC เพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการทำสำมะโนประชากรและเคหะโดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พร้อมเผยทิศทางการดำเนินงานพร้อมนำองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 

                                                                                             


                                                                                                                                               นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์  การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติอย่างมาก โดยเฉพาะการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบ Face to Face ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ประชาชนนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับสังคมมีความต้องการใช้ข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น สสช. ตระหนักดีว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและทบทวนวิธีการทำสำมะโนในรูปแบบใหม่ จึงได้จัดให้มีการศึกษา ‘โครงการการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียน หรือ Register-based Census’ ถือเป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบ กรอบแนวคิด และวิธีการทำสำมะโน โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเสริมวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุมประชากรของประเทศ”

                                                                                                                                                                                                                                                   Register-based Census ดำเนินการใน 3 จังหวัดซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชาและอำเภอพนัสนิคม เป็นการเก็บข้อมูลจากประชากรทุกคนตามที่อยู่อาศัยจริง ณ วันที่กำหนด โดยใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้ดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2563 - เดือนมีนาคม 2564

                                                                                                                                                                                                                                 ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า “การปรับเปลี่ยนวิธีการทำสำมะโนจากแบบดั้งเดิมมาใช้ฐานข้อมูลทะเบียนนั้น ทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำสำมะโนของประเทศ เพราะสามารถใช้ข้อมูลจากทะเบียนที่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ มีอยู่แล้วมาใช้แทนการปฏิบัติงานสนามได้ หากวิธีการนี้ได้ถูกนำมาใช้จะทำให้ประชาชนตอบคำถามและใช้เวลาน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความร่วมมือของประชาชนในการตอบข้อมูลกับ สสช.มากขึ้น และได้ข้อมูลที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย ผลการศึกษาจากโครงการนี้ อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำสำมะโนในอนาคต”

นอกจากโครงการ Register-based Census แล้ว ในปีที่ผ่านมา สสช. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือ GBDi พัฒนา “ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ หรือ Government Data Catalog” เรียกสั้นๆ ว่า GD Catalog ซึ่งถือเป็นสมุดหน้าเหลืองรวบรวมรายการข้อมูลภาครัฐ และเปิดให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูลเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน โดยจะพัฒนาเป็น Digital Platform ด้านข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกันในระดับประเทศ (GD Catalog Platform) ต่อไป นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

                           



                                                                                                                                                                                           ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เล่าถึงประโยชน์ของระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐว่าจะช่วยลดระยะเวลาการสืบค้นและศึกษาข้อมูล เนื่องจากมีการจัดการบัญชีข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบ มีคำอธิบายข้อมูลที่แสดงถึงแหล่งที่มาจากเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง โดยตัวอย่างการใช้ประโยชน์ของ GD Catalog 

เช่น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีบัญชีข้อมูลภาครัฐทำให้ทราบว่าข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มีการจัดเก็บอยู่หรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานใด จัดเก็บอยู่ในรูปแบบใด ซึ่ง GBDi ได้รวบรวมบัญชีข้อมูลและนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มากกว่า 100 รายการ 

                                                                                                                                                                                                                                                                             “สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานในยุคการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล มุ่งเน้นการจัดทำข้อมูลและให้บริการข้อมูลสถิติที่สอดคล้องตอบโจทย์ ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ของประเทศ 

โดยพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลให้มากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบแบบสอบถามออนไลน์ การใช้แท็บเล็ตในการเก็บและปรับปรุงข้อมูล การพัฒนาระบบการบริการข้อมูลแบบ API เป็นต้น สำหรับ    ปี พ.ศ. 2564-2565 มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการ ดังนี้ โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ.2566 โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โครงการยกระดับการสำรวจข้อมูลของ สสช. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรสถิติดิจิทัล และโครงการจัดทำฐานข้อมูลผู้ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทยโดยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 เป็นต้น” 

                                                                                                                                                                                                                                                                             “ข้อมูลถือเป็นขุมทรัพย์และเข็มทิศนำทางการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงใคร่ขอความร่วมมือประชาชนให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริงกับ ‘คุณมาดี’ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีมีคุณภาพมาประมวลผล และนำไปเป็นฐานข้อมูลสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง ก้าวทัน และยั่งยืน” ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย

                                                                                                                                                                                                               ติดตามข้อมูลสถิติที่น่าสนใจมากมายจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th  โซเชียลมีเดีย Line Official Account “NSO OF THAILAND” และโมบายแอปพลิเคชัน “THAI STAT” หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 0 2141 7500-03



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad