กรมเจรจาฯ ถกเอกชน 8 กลุ่ม หาข้อมูลเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯ ถกเอกชน 8 กลุ่ม หาข้อมูลเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ

img

กรมเจรจาฯ ถกเอกชน 8 กลุ่ม หาข้อมูลเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศถกภาคเอกชน 8 กลุ่มสินค้า รวบรวมข้อมูลสำหรับใช้เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอที่จะอัพเกรดในปัจจุบันและที่จะจัดทำใหม่ในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการของไทย ที่จะเลือกใช้วัตถุดิบเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดสินค้า และใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เชิญผู้ประกอบการ และภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มาร่วมระดมความเห็นเรื่อง “การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ” โดยแบ่งกลุ่มการหารือออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ตามประเภทของสินค้าและสาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร 2.เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก 3.เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 4.ยานยนต์และชิ้นส่วน 5.ไม้ กระดาษ การก่อสร้าง ซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์ 6.แร่เหล็กและอลูมิเนียม 7.เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ และ 8.ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทางการเจรจาเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอที่จะมีการปรับปรุงทบทวน หรือเอฟทีเอฉบับใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต
        
“หากกฎเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้ามีความง่าย จะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเอได้มากขึ้น และใช้แต้มต่อจากเอฟทีเอขยายตลาดไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น กรมฯ จึงต้องมาหารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีหลายรูปแบบ เช่น กำหนดเงื่อนไขตามมูลค่าการผลิต พิจารณาจากมูลค่าการผลิตจริง และนำวัตถุดิบนอกเอฟทีเอมาสะสมได้ เป็นต้น การเจรจาเรื่องนี้ จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของไทย เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด”
         
ทั้งนี้ ผลจากการหารือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เห็นตรงกันว่า ความรู้ในเรื่องกฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีความสำคัญอย่างมากกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากช่วยให้ทราบถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นว่าควรเลือกใช้วัตถุดิบหรือการผลิตอย่างไร ที่จะสามารถนำมูลค่าของสินค้ามาสะสม จึงจะผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเอ ในการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอได้อย่างเต็มที่
         
ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบประเภทสินแร่เหล็ก ฝ้ายธรรมชาติ และทองคำ เป็นต้น มาใช้ในกระบวนการผลิตในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เห็นว่า การกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสม จะช่วยให้มีโอกาสส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad