“มินิ เอฟทีเอ” เพิ่มโอกาสค้าขาย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2564

“มินิ เอฟทีเอ” เพิ่มโอกาสค้าขาย

img


“มินิ เอฟทีเอ” เพิ่มโอกาสค้าขาย

การค้าขายยุคนี้ เป็นยุคการค้าเสรี ใครทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มาก ก็ย่อมได้เปรียบมาก เพราะภายใต้ “เอฟทีเอ” มีการลดภาษี ลดกฎ กติกา ลดเงื่อนไขทางการค้าต่างๆ มากมาย
         
ปัจจุบัน ประเทศไทยทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย
         
กำลังมีฉบับที่ 14 คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่ก็ยังมี 18 ประเทศเท่าเก่า เพราะ RCEP เป็นการทำเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่เดิม
         
ถามว่า แค่นี้พอหรือยัง?
         
ตอบได้ทันที ว่า “ยัง” จึงต้องเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกันต่อ
         
แต่การเจรจาเอฟทีเอใหม่ มักจะใช้เวลานานเป็นปี หรือหลายๆ ปี กว่าจะตกลงกันได้ ทำให้โอกาสได้แต้มต่อทางการค้า ก็ช้าตามไปด้วย
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” มองเห็นถึง “จุดอ่อน” ตรงนี้ และมองว่า ถ้าไม่เร่งแก้ไข ก็จะยิ่งทำให้ไทย “เสียโอกาสทางการค้า
         
จึงได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาด้วยการให้เร่งจัดทำ “มินิ เอฟทีเอ
         
นายจุรินทร์ อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า “มินิ เอฟทีเอ” เป็นการทำความร่วมมือทางการค้าเชิงลึก ระหว่างไทยกับรัฐ เมือง และมณฑลต่างๆ ที่มีศักยภาพ
         
ส่วนที่เรียกว่า มินิ เอฟทีเอ เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เข้าใจง่าย

มีหลักการ คือ ประเทศไทย โดยกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับภาคเอกชน ทำข้อตกลงทางการค้าเฉพาะกับมณฑล หรือรัฐ หรือเมืองของประเทศใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่าบางประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการของไทย 
         
เป้าที่ให้ไว้ ก็คือ รัฐเตลังคานา (อินเดีย) มณฑลไห่หนาน (จีน) เมืองคยองกี (เกาหลีใต้)
         
เหตุผล ที่เลือกรัฐเตลังคานา เพราะรัฐนี้มีประชากรมากกว่าไทย มีโอกาสทางการค้ามากมาย ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะช่วยสร้างโอกาสให้กับทั้ง 2 ฝ่าย   
         
มณฑลไห่หนาน เพราะจะเป็นฮ่องกงแห่งที่ 2 ของจีน อนาคตจะเติบโตได้อีก จึงต้องเข้าไปร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยไว้ก่อน   
         
ส่วนเมืองคยองกี เป็นจังหวัดอุตสาหกรรม มีคนเอเชีย คนอาเซียน และต้องการสินค้าไทย ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะช่วยเปิดโอกาสตามมาอีกมากมาย   
         
ปัจจุบันมินิเอฟทีเอระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
         
มีสาระสำคัญ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน การส่งเสริมเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ การเชื่อมโยงการค้าออนไลน์ การให้สิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน สิทธิพิเศษทางภาษี เป็นต้น
         
ไม่เพียงแค่นั้น ไทยยังมีเป้าหมาย ขยายการทำมินิเอฟทีเอกับรัฐต่างๆ ของอินเดียเพิ่มขึ้นอีก มีเป้าหมาย 5 รัฐ ได้แก่ 1.รัฐคุชราต 2.รัฐกรณาฏกะ 3.รัฐมหาราษฏระ 4.รัฐเคเรล่า และ 5.รัฐ 8 สาวน้อย หรือรัฐอัสสัมด้วย

สำหรับมณฑลไห่หนาน ได้มีการจัดทำรายละเอียดมินิเอฟทีเอเสร็จแล้ว โดยประเด็นของความร่วมมือ จะเน้นความร่วมมือในการสนับสนุนเอสเอ็มอี ทั้งด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทางการค้า เช่น การจัดงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าระหว่างกัน และการร่วมมือด้านการค้าออนไลน์ 

ส่วนเมืองคยองกี กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดในมินิเอฟทีเอ
         
จริงๆ ตามเป้าหมาย น่าจะมีการเซ็นเอ็มโอยูกันไปบ้างแล้ว แต่มาติดที่รัฐหรือเมืองหรือมณฑลที่ไทยจะทำมินิเอฟทีเอด้วย ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลกลาง ก็เหมือนกับไทยที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน
         
ก็เลยทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง
         
และยิ่งมาติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางไม่สะดวก แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา ได้มีการแก้ไขด้วยการตกลงที่จะเซ็นกันผ่านออนไลน์ ก็จบปัญหาข้อนี้ไปได้
         
สถานการณ์มินิเอฟทีเอล่าสุด นายจุรินทร์ บอกว่า “ได้สั่งการให้นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ไปติดตามความคืบหน้าของมินิเอฟทีเอที่จะทำกับทั้ง 3 ประเทศแล้ว
         
รวมทั้งให้พิจารณาทำ “มินิ เอฟทีเอ” กับเมืองใหม่ๆ ที่เห็นว่า “จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทย
         
ตอนนี้ ก็รอลุ้นแค่ว่า รัฐใด เมืองใด มณฑลใด ใน 3 ประเทศเป้าหมาย “จะเป็นรายแรกที่จะเซ็นมินิเอฟทีเอกับไทย
         
เพราะหากเซ็นแล้ว จะเป็นการพลิกโฉมหน้าการค้าครั้งประวัติศาสตร์ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
         
ต้องเร่งแล้ว ผู้ประกอบการเขารออยู่ !!!
 
ซีเอ็นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad