หนุนเกษตรกรรายย่อย! ทางรอดวิกฤตอาหารโลกหลังโควิด-19 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

หนุนเกษตรกรรายย่อย! ทางรอดวิกฤตอาหารโลกหลังโควิด-19

หนุนเกษตรกรรายย่อย! ทางรอดวิกฤตอาหารโลกหลังโควิด-19

นักวิจัยระดับโลกชี้เทรนด์โลกหลังวิกฤตโควิด-19 ปฏิรูประบบเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ผลิตอาหารสุขภาพ รักษาระบบนิเวศ ลดจำนวนห้างขนาดใหญ่ เพิ่มตลาดเกษตรกร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ห่างไกลโรคระบาดอุบัติใหม่

ภาพชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่าในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด มีให้เห็นแล้วในช่วงวิกฤตปิดประเทศจากภัยโรคระบาดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ผู้คนในหลายเมืองเริ่มตระหนักแล้วว่า อำนาจซื้อที่เคยมีนั้นเปล่าประโยชน์ในห้วงวิกฤต แม้มีเงิน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอาหารตกถึงท้อง

สำหรับศาสตราจารย์อาคันตุกะของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารอย่าง ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต นี่เป็นลางบอกเหตุ ที่สะกิดเตือนพลเมืองโลกให้ตื่นจากการหลับใหลในวัฏจักรการฝากปากท้องไว้กับระบบอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่

“นี่คือผลพวงจากการปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดการเกษตรทั้งระบบ ควบคุมการผลิตและขนส่งอาหารไปทั่วโลก ต้นเหตุหลักของการแพร่ระบาดสารพัดเชื้อโรคทุกวันนี้” ศ. ปีเตอร์ กล่าวในเวทีสาธารณะ “นโยบายเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและความเหลื่อมล้ำ และความมั่งคงทางอาหารหลังวิกฤตโควิด-19 มุมมองจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและการคุ้มครองพันธุ์พืช” ที่จัดขึ้นที่จุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต
ที่ปรึกษาขบวนการชาวนาสากล (La Via Campesina)
ศาสตราจารย์อาคันตุกะของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

ศ.ปีเตอร์ ย้ำความจริงที่ว่าภัยพิบัติครั้งนี้เป็นผลกระทบจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรขนาดใหญ่ที่กำกับให้หลายประเทศต้องอาศัยอาหารหรือวัตถุดิบจากการขนส่งข้ามโลกเท่านั้น ซึ่งเมื่อใดที่เกิดการติดเชื้อจากแหล่งผลิตอาหารเพียงแหล่งเดียว ไม่ว่าจะมาจากการใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโตมากเกินไป หรือจากการใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์ป่วยในปริมาณมากจนเชื้อดื้อยา หรือแม้แต่จากสัตว์ป่าที่ถูกรุกไล่ถิ่นอาศัยจนต้องเข้ามาใกล้แหล่งชุมชนและกลายเป็นพาหะของโรคอุบัติใหม่ต่างๆ หายนะภัยก็จะปรากฏอย่างที่เห็น

“เราจำเป็นต้องสร้างอธิปไตยทางอาหาร” ศ. ปีเตอร์ ที่ปรึกษาขบวนการชาวนาสากล (La Via Campesina) เสนอแนวทางปฏิรูประบบเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกในอนาคต

“เราต้องเปลี่ยนระบบอาหารจากระบบบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นระบบเกษตรกรรายย่อย โดยให้เกษตรกรรายย่อยแต่ละท้องถิ่นผลิตอาหารสุขภาพและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็ลดจำนวนห้างฯ ขนาดใหญ่ แล้วเพิ่มปริมาณตลาดเกษตรกรแทน รวมทั้งเพิ่มการทำเกษตรในเมืองด้วย”


การเกษตรในเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมา ศ. ปีเตอร์ อ้างข้อมูลที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤต ผู้บริโภคในเมืองเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยเป็นผู้รอด อีกทั้งยังมีความสามารถรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากในเมืองได้ราว 30% ของจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง (ในช่วงวิกฤตโรคระบาด) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศไทยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ด้วย

“เกษตรกรรายย่อยเข้มแข็งกว่าที่พวกเราคิด เกษตรกรและประชาชนในท้องถิ่นสามารถฟื้นฟูระบบอาหารและระบบสาธารณสุขท้องถิ่นเองได้ โดยหันกลับมาใช้ระบบเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่ใช้ความรู้ท้องถิ่นดั้งเดิมก่อนที่จะมีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหรือเกษตรเคมี พวกเขาสามารถผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารจากเกษตรเชิงนิเวศ ที่จะไม่ก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่”

สุดท้าย ศ. ปีเตอร์ เน้นว่าการปฏิรูประบบเกษตรเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจที่จะพลิกโฉมความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับห้างค้าปลีกรายใหญ่และผู้บริโภคปลายทาง โดยผสมผสานการเกษตรนิเวศแบบใหม่ ที่พิสูจน์แล้วว่าให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าการเกษตรเชิงเดี่ยว คืนกำไรทั้งผลประกอบการและสุขภาพของเกษตรกร กำไรทั้งสุขภาพของผู้บริโภค ภูมิคุ้มกันชีวิตที่แท้จริง และเป็นความมั่นคงทางอาหารสำหรับอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad