นักศึกษา ม.มหิดล คว้า 3 รางวัลประกวดคลิปวิดีโอรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ จาก สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

นักศึกษา ม.มหิดล คว้า 3 รางวัลประกวดคลิปวิดีโอรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ จาก สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

นักศึกษา ม.มหิดล คว้า 3 รางวัลประกวดคลิปวิดีโอรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ จาก สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

          องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ปีนี้ว่า “Commit to quit” หรือมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ เพื่อลดเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงผลกระทบทางสุขภาพจากโรคต่างๆ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกล่าสุดว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 165,550,534 ราย ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 92 ของโลก (119,585 ราย) และจากผลรายงานพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ทั้งบุหรี่ธรรมดา และบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเสียชีวิตจาก COVID-19 สูง เนื่องจากเป็นโรคทางปอดที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ

          เมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SIET) มหาวิทยาลัยมหิดล คว้า 3 รางวัลจากการประกวดคลิปวิดีโอ ส่งเสริมการสร้างค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า จัดโดย สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

          ซึ่ง 2 รางวัลจากการประกวดหัวข้อ “บุหรี่ไฟฟ้า…ผิดมั้ยอ่ะ” รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานคลิป “พิพากษาบุหรี่ไฟฟ้า” โดย “ทีมอัญประกาศ” ซึ่งมีสมาชิกของทีมประกอบด้วย กานต์ตะวัน สมาน มนปริญา ศิพะโย สุทธวีร์ อนันคภัณฑ์นันท์ บุณยวีร์ พฤกษาเกษมสุข และ พนัชกร จันทบูลย์ และรางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานคลิป “คอร์สสอนสูบ” โดย “ทีมเด็กน้อย” ซึ่งมีสมาชิกของทีมประกอบด้วย นันทนัช ปิยะสินธ์ชาติ นฤมล สิงหปรีชา ภัทรวดี ขำเหม อภิสิทธิ์ ทังลา และ ปิยพร ศรีสนั่น

          และ 1 รางวัลจากการประกวดหัวข้อ “How to…ทิ้งบุหรี่” คือ รางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 ซึ่งได้แก่ ผลงานคลิป “ดับไฟเสน่หา” โดย “ทีมหมิวไม่ไปด้วยกันแล้วนะ” ซึ่งมีสมาชิกของทีมประกอบด้วย สุดารัตน์ หาญมโน ชุติกาญจน์ สังข์ทอง อินธุอร เจ็กน้อย และ ภัทรชัย สุขประมาณ ซึ่งทั้ง 3 ผลงานมีเป้าหมายที่เป็นเยาวชนซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากที่สุด

          พนัชกร จันทบูลย์ กล่าวในฐานะตัวแทนของทีม “อัญประกาศ” ซึ่งตั้งชื่อทีมโดยตั้งใจให้เป็นตัวแทนของ “เรื่องที่อยากจะบอก” โดยทีม “อัญประกาศ” ได้สร้างสรรค์ผลงานคลิป “พิพากษาบุหรี่ไฟฟ้า” ขึ้นในแนว parody หรือล้อเลียนคาแรกเตอร์ที่ผสมผสานระหว่างวรรณกรรมจีน “เปาบุ้นจิ้น” และวรรณกรรมไทย “พิภพมัจจุราช” เพื่อความสนุก และเข้าใจง่าย โดยเสนอเป็น “ศาลไคงง” กับ “ท่านเปายิงชุบ” ในโลกมนุษย์ ก่อนลงมาพบกับ “ท่านยมบาล” ในยมโลก เพื่อพิพากษาคดีบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีอันตรายและส่งผลร้ายต่อใคร อย่างไรบ้าง โดยอยากฝากข้อคิดให้ทุกคนรับสื่ออย่างระมัดระวัง และใช้วิจารณญาณ เนื่องจากมีทั้งข้อมูลจริง และข้อมูลชวนเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าที่พบว่ายังมีข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดอีกเป็นจำนวนมาก ติดตามชมคลิป “พิพากษาบุหรี่ไฟฟ้า” ได้ที่ https://www.facebook.com/100006839414509/videos/2764400167131270/

          นฤมล สิงหปรีชา กล่าวในฐานะตัวแทนของทีม “เด็กน้อย” ซึ่งตั้งชื่อทีมจากเมื่อครั้งก่อนที่ได้ลงพื้นที่ร่วมทำโปรเจคผลิตสื่อรณรงค์เกี่ยวกับสุขภาวะในเด็ก ผลงานคลิป “คอร์สสอนสูบ” ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป โดยใช้ตัวแสดงที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แทนวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลองบุหรี่ไฟฟ้าตามรุ่นพี่ ด้วยความเชื่อที่ผิดๆ ว่าสูบแล้วดูดี เป็นที่สนใจในสายตาของผู้อื่น จึงไปให้รุ่นพี่สอนสูบ โดยในคลิปจะมี “เสียงของความคิด” เป็น narrator หรือเสียงบรรยาย มาให้ข้อคิด และข้อมูลที่ถูกต้องถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ตัดสินใจได้ว่าจะสูบดีหรือไม่ในช่วงท้าย เป็น key message หรือบทสรุปว่า “เท่ได้ ไม่สูบ” ซึ่งเป้าหมายของทีมฯ คือ การทำสื่อที่ถูกต้องให้กับผู้รับสื่อ ติดตามชมคลิป “คอร์สสอนสูบ” ได้ที่ https://www.facebook.com/100006839414509/videos/2764417490462871/

          สุดารัตน์ หาญมโน กล่าวในฐานะตัวแทนของทีม “หมิวไม่ไปด้วยกันแล้วนะ”ซึ่งตั้งชื่อทีมจากชื่อเพื่อนนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถร่วมทำผลงานคลิป “ดับไฟเสน่หา” ด้วยกันจนเสร็จสมบูรณ์เนื่องจากวิกฤติ COVID-19 โดยเป็นคลิปที่จัดทำเลียนแบบละครไทย เปรียบตัวละครหญิงที่พระเอกกำลังติดพันเหมือนบุหรี่ ในขณะที่อีกตัวละครหญิงที่เป็นคู่หมั้นคู่หมายจะเป็นฝ่ายคอยเตือนพระเอกให้เลิกบุหรี่ และชี้ให้เห็นโทษของบุหรี่ สุดารัตน์กล่าวฝากในฐานะตัวแทนผู้เรียนการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาวะว่า ไม่ได้หวังเพียงให้สื่อที่ทำออกมาสามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่อยากให้มีการขยายผลสู่สังคมโดยรวมต่อไปอีกด้วย ติดตามชมคลิป “ดับไฟเสน่หา” ได้ที่ https://www.facebook.com/100006839414509/videos/2764394903798463/

          อาจารย์ ดร.โสภิตา สุวุฒโฑ ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียน
เวชนิทัศน์พัฒนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SIET) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต เป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนด้านการผลิตสื่อการศึกษาทางด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะทางที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ในการจัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าของทั้ง 3 ทีมนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน นักศึกษาต้องวางแผนและจัดทำจนเสร็จสิ้นทุกกระบวนการด้วยตนเอง ตั้งแต่การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การคิดออกแบบเนื้อหา การเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ที่ไม่ได้เน้นแค่ความบันเทิง แต่ต้องสร้าง awareness และให้ข้อเท็จจริง (fact) ที่เป็นประโยชน์ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้สามารถจดจำและนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงใช้เทคนิคการถ่ายทำ และงาน Post Production ที่ทันสมัย สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย สร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีคุณภาพเพื่อเผยแพร่สู่สังคม

          ร้อยโท นายแพทย์ภาณุภัท นราศุภรัฐ หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์บูรณาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 15 เท่า โดยบุหรี่ไฟฟ้า 1 หลอด เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 15 มวน นอกจากนี้ ร่างกายจะสามารถดูดซึมสารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่กระแสเลือดเร็วกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยบุหรี่ไฟฟ้าใช้เวลาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพียงได้เพียงภายใน 7 – 10 วินาที ในขณะที่บุหรี่ธรรมดาใช้เวลา 15 วินาที ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ต้องสูดกลิ่นควันจากบุหรี่ไฟฟ้า (second hand smoke, third hand smoke) จะยิ่งได้รับอันตราย โดยเขม่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอนุภาคที่เล็กกว่า PM2.5 เนื่องจากใช้ไฟฟ้าในการเผาไหม้ จึงทำให้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า

          “จริงๆ แล้วการเสพติดบุหรี่ ไม่ได้หมายความว่าเสพติดจากความอยากสูบ แต่เสพติดจากสารเคมีต่างๆ เช่น สารนิโคตินที่จะไปกระตุ้นสมองให้เกิดความรู้สึกอยากสูบขึ้นมา แม้แพทย์อาจช่วยบำบัดอาการดังกล่าวจนสามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ผู้สูบต้องตั้งเป้าหมายในการเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง และลงมือปฏิบัติโดยเคร่งครัด นอกจากนี้กำลังใจจากครอบครัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดย ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นโรงพยาบาลที่ปลอดการสูบบุหรี่ 100% ซึ่งมีคลินิกบำบัดการติดบุหรี่ หรือ “คลินิกฟ้าใส” ที่พร้อมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักสุขศึกษา คอยให้คำปรึกษา และติดตามผลจนสามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2849-6600 ต่อ 2318
ในวันและเวลาราชการ” ร้อยโท นายแพทย์ภาณุภัท นราศุภรัฐ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad