“ส่งออก” ขาขึ้น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ส่งออก” ขาขึ้น

img

“ส่งออก” ขาขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.2564 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทำสถิติส่งออกมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการส่งออกมา
         
โดยทำมูลค่าได้สูงถึง 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังขยายตัวได้ถึง 8.47% เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่พ.ย.2561
         
ถือเป็น "ข่าวดี" ให้ใจชื้น ท่ามกลางข่าวร้ายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบ
         
ที่บอกเป็นข่าวดี เพราะ “การส่งออก” เป็นเครื่องจักรสำคัญตัวหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ให้ฟุบตัว และช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

เรียกว่าเป็น “พระเอก” มาถูกที่ ถูกเวลา
         
ขณะที่เครื่องจักรสำคัญตัวอื่นๆ ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการท่องเที่ยว ต่างชะลอตัวกันหมด

การส่งออกเดือนมี.ค.2564 ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำสถิติมูลค่าส่งออกสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสินค้าหลายตัวทำสถิติมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 3,040 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.1% ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 50.6% เม็ดพลาสติก มูลค่า 1,013.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 52.9%

นอกจากนี้ สินค้าหลายตัว เคยส่งออกตกต่ำมานาน ต่างก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 34.8% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 27%

ส่วนสินค้าเกษตร มีหลายตัวส่งออกได้ดี เช่น ยางพารา เพิ่ม 109.2 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 59.2% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 41.4% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 5.8%

สำหรับสินค้าส่งออกดาวรุ่ง ที่สนับสนุนการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ก็ยังเติบโตได้ดี และยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านตลาดส่งออก ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่ม 12.3% จากการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป 7.2% , 4.6% และ 32% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 7.6% เช่น จีน เพิ่ม 35.4% เอเชียใต้ เพิ่ม 24.3% CLMV เพิ่ม 2% แต่อาเซียน 5 ประเทศ ลด 2.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 12% เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา และทวีปแอฟริกา เพิ่ม 16.9% , 11.9% และ 11.2% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 2.1% แต่ตะวันออกกลาง ลด 0.5%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” บอกว่า “จากสัญญาณดังกล่าว บ่งชี้ให้เห็นว่า “การส่งออกของไทยกำลังฟื้นตัว เป็นการฟื้นในลักษณะตัวยู (U) หลังจากพ้นจุดต่ำสุดมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
         
พร้อมย้ำว่า จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และเพิ่มกิจกรรมสนับสนุนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
         
เพื่อไม่ให้ “การส่งออกหยุดชะงัก
         
นายจุรินทร์ ยกตัวอย่างปัญหาอุปสรรคที่ได้แก้ไขสำเร็จไปแล้ว เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาการส่งออกตามแนวชายแดน และปัญหาความไม่เข้าใจของประเทศคู่ค้าที่มีต่อสินค้าไทย
         
ที่สำเร็จไปล่าสุด ก็ปัญหาสปป.ลาว ห้ามส่งออกอาหารทะเลสด แช่แข็ง โดย "ตั้งแต่ 1 พ.ค.2564 สามารถส่งออกได้ตามปกติแล้ว"
         
ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก จะเห็นว่าได้มีการนำนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่มาใช้ในยุค New Normal
        
ยกตัวอย่างเช่น การใช้โมเดล Mirror Mirror ที่ถือเป็นรูปแบบในการจัดงานแสดงสินค้า โดยผู้ส่งออกส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้า หรือสถานที่ๆ กำหนด แล้วเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในประเทศเป้าหมายมาชม ถ้าสนใจก็เจรจาการค้าผ่านทางออนไลน์ มีเป้าหมายจัดไม่ต่ำกว่า 20 งาน
         
การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching – OBM) ที่ขณะนี้กลายเป็นกิจกรรมหลักไปแล้ว เพราะเดินทางไปไม่ได้ โดยปีนี้ตั้งเป้าทำยอดขายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท
         
เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ทำยอดขายได้ 15,000 ล้านบาท
         
มีผลงานไตรมาสแรกปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) ทำยอดขายไปแล้ว 5,280 ล้านบาท ผ่านการเจรจาจับคู่ 33 ครั้ง เซ็นสัญญาซื้อขาย 992 คู่ ระหว่างผู้ส่งออกไทย 325 ราย และผู้ซื้อ ผู้นำเข้า 345 ราย
         
ในช่วง 9 เดือนที่เหลือ เห็นว่า จะจัด OBM อีกไม่ต่ำกว่า 85 ครั้ง ตั้งเป้าจับคู่ให้ได้ 2,500 คู่ มีผู้ส่งออก เซ็นสัญญาซื้อขาย 750 ราย มูลค่า 10,600 ล้านบาท
         
ช่วยผู้ส่งออกไทยขายสินค้า เรียกได้ว่า “สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งกันเลยทีเดียว
         
ไม่เพียงแค่นั้น นายจุรินทร์ ยังให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้กับ “ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอี ให้มีโอกาสส่งออก
         
วิธีการ ก็คือ เอาคนเก่ง คนมีความรู้ คนมีประสบการณ์ ไปสอนวิธีทำตลาดต่างประเทศ วิธีการส่งออก การเจรจาซื้อขาย ให้กับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งเป็นเซลส์แมนจังหวัด ตัวแทนจากหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกร และบิสคลับ
         
เป้าหมายให้คนเหล่านี้ ทำตัวเป็น “แม่ไก่” แล้วนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี
         
จากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะไปติดตามดูว่า “มีเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอีรายใดบ้างที่มีศักยภาพ” ถ้าเห็นแวว ก็จะนำมาร่วม “เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อที่จะได้พบกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผ่านการติดต่อของทูตพาณิชย์ ซึ่งเป็นเซลส์แมนประเทศต่อไป”
         
กิจกรรมที่ว่า เป็นเพียงแค่ “น้ำจิ้ม” เพราะกระทรวงพาณิชย์ ยังมีกิจกรรมที่สนับสนุนการส่งออกอีกมากมาย
         
หากสนใจก็ถาม “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ดูได้

โทรเบอร์นี้เลย 1169 มีคำตอบแน่นอน
         
ซีเอ็นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad