ลดความเสี่ยง เลี่ยงไปโรงพยาบาล รอรับยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่านไปรษณีย์...ปลอดภัยหายห่วง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ลดความเสี่ยง เลี่ยงไปโรงพยาบาล รอรับยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่านไปรษณีย์...ปลอดภัยหายห่วง

 

ลดความเสี่ยง เลี่ยงไปโรงพยาบาล รอรับยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่านไปรษณีย์...ปลอดภัยหายห่วง


บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมยกระดับการให้บริการโรงพยาบาล ผ่านบริการส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการลดการเดินทาง ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสและการติดเชื้อ โดยเป็นบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นยาอุณหภูมิปกติแก่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ครอบคลุมในโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดส่งถึงที่อยู่ผู้รับภายในวันทำการรุ่งขึ้น ในปลายทางพื้นที่เดียวกัน และไม่เกิน 2 วันในปลายทางต่างพื้นที่ โดยผู้ป่วยสามารถติดต่อขอใช้บริการและสอบถามอัตราค่าส่งยาและเวชภัณฑ์ได้ที่โรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ส่วนโรงพยาบาลที่ต้องการเปิดให้บริการนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ THP Contact Center 1545 และที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มมาตรฐานและประสิทธิภาพในการส่งยาในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 นี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้เตรียมเปิดให้บริการจัดส่งยาในกลุ่มยาประเภทที่ต้องควบคุมอุณหภูมิครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมระบบขนส่งพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ควบคุมอุณหภูมิ

นายกาหลง ทรัพย์สะอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานปฏิบัติการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า จากสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ที่ระบาดหนัก รอบที่ 3 ในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับมาตรการป้องกันโรคดังกล่าวเข้มข้นขึ้น โดยได้มีการกำหนดให้มีพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุด และพื้นที่เข้มงวด เพื่อลดปริมาณประชาชนในการเดินทางออกจากบ้านหรือออกนอกพื้นที่ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลทั่วประเทศนั้นถือเป็นด่านหน้าที่ยังคงให้บริการตรวจและรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จึงทำให้อาจเกิดความแออัดในโรงพยาบาลมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเดิมที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์และรอรับยาที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) จึงพร้อมให้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นยาอุณหภูมิปกติ แก่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด โดยจัดส่งถึงที่อยู่ผู้รับภายในวันทำการรุ่งขึ้น (ปลายทางพื้นที่เดียวกัน) และไม่เกิน 2 วัน (ปลายทางต่างพื้นที่) สามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้ตลอด 24. ชม. ทางแอปพลิเคชัน Track&Trace หรือ www.thailandpost.co.th ซึ่งบริการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยจากการเดินทางไปโรงพยาบาล

“ไปรษณีย์ไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องจึงมุ่งให้บริการดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางสำคัญต่อการรับมือการระบาดและลดความแออัดของโรงพยาบาลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ต้องการให้ไปรษณีย์ไทยดำเนินภารกิจในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์กว่า 390 แห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ทำให้ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 ไปรษณีย์ไทยมีปริมาณการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลไปส่งยังผู้ป่วยถึงบ้านแล้วจำนวนกว่า 300,000 ชิ้น และคาดว่าจะมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 นี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้เตรียมเปิดให้บริการจัดส่งยาในกลุ่มยาประเภที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดส่ง พร้อมระบบขนส่งพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยในระยะยาวและให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดส่งด้วย”

สำหรับผู้ป่วยสามารถติดต่อขอใช้บริการและสอบถามอัตราค่าส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ได้ที่โรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาและสำหรับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใดที่ต้องการเปิดให้บริการในลักษณะดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายการขายและการตลาดไปรษณีย์ด่วนพิเศษโลจิสติกส์ โทรศัพท์ 0 2831 3975, 0 2982 8222 หรือทาง THP Contact Center 1545 และที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad