ซีพีเอฟ ร่วมดูแลน้อง "ศูนย์เรียนรู้ อา โยน อู" ปิดเรียนเพราะโควิด แต่ยังมีไข่ไก่บริโภค - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ ร่วมดูแลน้อง "ศูนย์เรียนรู้ อา โยน อู" ปิดเรียนเพราะโควิด แต่ยังมีไข่ไก่บริโภค

ซีพีเอฟ ร่วมดูแลน้อง "ศูนย์เรียนรู้ อา โยน อู" ปิดเรียนเพราะโควิด แต่ยังมีไข่ไก่บริโภค    

ยอดผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาสร้างความวิตกกังวลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย ภาครัฐต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่นเดียวกับสถานศึกษา โรงเรียน ที่ยังต้องปิดทำการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ และใช้ระบบออนไลน์แทน 

   

ที่ ศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  โรงเรียนชายขอบซึ่งมีทั้งเด็กนักเรียนไทยและเด็กชาติพันธุ์  เผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถกลับมาทำการสอนตามปกติได้ ต้องเรียนทางออนไลน์ และนักเรียนที่สามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้  ก็มีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมด เฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองมีโทรศัพท์มือถือใช้เท่านั้น     


อย่างไรก็ตาม ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ .... ยังเดินหน้าโครงการดีๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้อยโอกาสและเด็กชาติพันธุ์  คือ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”  เพื่อสร้างแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยมีเยาวชนในศูนย์ฯ ร่วมรับผิดชอบโครงการ และยังเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพเพื่อนำไปใช้ได้ในอนาคต   

  

นายจ่อซาน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู เล่าว่า บนพื้นที่ 5 ไร่ของศูนย์ฯ ด้านหน้าถูกแบ่งเป็นส่วนของอาคารเรียน ส่วนด้านหลังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยการทำสวนผัก ที่เต็มไปด้วยพืชผักสำหรับปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับน้องๆเยาวชนในศูนย์ทั้ง 100 คน และคุณครู 9 คน พื้นที่ตรงนี้ถูกจัดสรรให้เป็นแปลงปลูกพืชหมุนเวียน พืชผักสวนครัว ทั้งผักบุ้ง ข้าวโพดหวาน มะเขือม่วง กระเจี๊ยบ ฟักทอง มะนาว และกล้วยน้ำว้า ถัดไปเป็นสระน้ำสำหรับเก็บน้ำและเลี้ยงปลาให้นักเรียนได้บริโภคด้วย 

    

ไม่ไกลจากสวนผักเป็นที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ผู้อำนวยการบอกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีผู้ใหญ่ใจดีอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นเดียวกัน ในการร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และผลักดันให้ชุมชนมีแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืนเป็นของตนเอง โดยเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ปี 2559 มีซีพีเอฟดูแลรับผิดชอบด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทั้งมอบแม่พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ และอุปกรณ์การเลี้ยงมาตรฐานสำหรับการเลี้ยงไก่รุ่นแรก ทั้งหมดนี้บริษัทให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมกับส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านการเลี้ยงไก่ การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตลอดจนการบริหารสต๊อกและการเงิน เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และมีผลประกอบการที่ดีสำหรับการลงทุนเลี้ยงเองในรุ่นถัดไป     

   

ที่ศูนย์ฯเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 120 ตัว โดยสามารถบริหารจัดการผลผลิต  ด้วยการนำไข่ไก่ไปเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ในภาวะปกติ รวมถึงในช่วงโควิดระบาด ที่ต้องหยุดการเรียนการสอนและสอนผ่านออนไลน์แทน ศูนย์ฯนำไข่ไก่ ข้าวสารและน้ำมันพืช แจกให้ผู้ปกครองนำไปปรุงอาหารให้กับนักเรียนได้รับประทานที่บ้าน ขณะเดียวกัน ยังจำหน่ายไข่ไก่ให้ผู้ปกครองในราคา 80-85 บาทต่อแผง 30 ฟอง ราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ รวมถึงจำหน่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อื่นๆ ทำให้สามารถบริหารการผลิตและการตลาดเพื่อให้มีผลกำไรเป็นทุนต่อไปได้    

 

นางสาว เตนเตน เหว่ คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ของศูนย์ฯ เล่าว่า เป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนต่างด้าวในพื้นที่ชายขอบ ที่มีซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท  สนับสนุนโรงเรียนทำโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ช่วยดูแลโภชนาการของเด็กๆ ที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต การได้รับประทานไข่ไก่ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับผักปลอดสารต่างๆที่พวกเขาปลูกเอง  ส่งผลดีต่อสุขภาพ ร่างกาย พัฒนาการทางสมอง และจิตใจ จากการได้ดูแลเลี้ยงไก่ และการได้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันช่วยเสริมทักษะทางสังคมให้เด็กๆ  

    

ด้านน้องๆที่รับผิดชอบดูแลเก็บผลผลิตไข่ไก่ ทั้ง ด.ญ. นวยนวยนันดามน, ด.ญ. เอตอดาข่าย และด.ช. กองเหว่หยั่นโก่โก่  ขะมักเขม้น ช่วยเหลือกันให้อาหารไก่ เก็บไข่ ทำความสะอาดโรงเรือน นำมูลไก่ทำเป็นปุ๋ย เพื่อใส่แปลงผักที่ช่วยกันปลูก พวกเด็กๆสนุกกับการทำงาน ได้มาดูแลไก่ที่พวกเขารัก และยังภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในผลผลิตไข่ไก่ทุกฟองสำหรับทุกคนในโรงเรียนและคนในชุมชน   

     

ครูปีเตอร์ ครูสอนภาษาไทยของศูนย์ฯ บอกว่า ถึงจะเป็นช่วงที่นักเรียนไม่ได้มาเรียน แต่หลายๆคนยังได้บริโภคไข่ไก่เพื่อเสริมสุขภาพที่ดี  โดยผลผลิตไข่ไก่ในแต่ละวัน  จะถูกจัดสรรครึ่งหนึ่งเพื่อจำหน่ายให้ชุมชนและอีกครึ่งหนึ่งเก็บไว้  ในแต่ละสัปดาห์คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ จะนำผลผลิตไข่ไก่ไปแจกตามบ้านนักเรียน  เท่าที่จะมีโอกาสนำไปให้ได้   ไกลสุดห่างจากศูนย์ฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร  ช่วยดูแลสุขภาพเด็กๆในช่วงที่ไม่ได้มาเรียนที่ศูนย์ฯ แต่ก็ยังได้บริโภคไข่ไก่       

 

ครูปีเตอร์ เล่าอีกว่า   สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการปลดแม่ไก่ไข่ เพื่อเตรียมรับไก่ไข่ชุดใหม่  ซึ่งผู้อำนวยการและครูทุกคนเห็นตรงกันว่า ควรต่อยอดความสำเร็จของโครงการนี้ไปยังชุมชน ด้วยการมอบแม่ไก่ไข่ที่ยังคงให้ผลผลิตไข่ไก่อย่างสม่ำเสมออยู่ ให้กับชาวชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 50 ครัวเรือน นำไก่ไปเลี้ยงต่อ ครัวเรือนละ 2 ตัว โดยสามารถนำไก่ไปเลี้ยงปล่อยร่วมกับไก่พื้นบ้านที่ทุกบ้านเลี้ยงไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่ายช่วงโควิด-19 และทางศูนย์ฯยังมีแผนที่จะขยายการเลี้ยงไก่ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น จากการขยายหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 8 (Grade 1-8) ในปีนี้ และสอดคล้องกับการบริโภคในชุมชนและตลาดที่ต้องการไข่ไก่คุณภาพ 

  

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ดำเนินการต่อเนื่องสู่ปีที่ 32 ส่งมอบโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนไปแล้ว 880 โรงเรียนทั่วประเทศ ตามเป้าหมายส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร เป็นแหล่งผลิตอาหารของโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน ./ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad