ฟิตอย่างไรไม่ให้หัวใจล้มเหลว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ฟิตอย่างไรไม่ให้หัวใจล้มเหลว

 


ฟิตอย่างไรไม่ให้หัวใจล้มเหลว 

            เหล่านักกีฬาและแฟนตัวยงของการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ คงเคยได้รับข่าวสารนักกีฬาเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว วูบเสียชีวิตคาสนามแข่งขันกีฬา หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่สามารถเกิดเหตุการณ์เดียวกันนี้ได้ในขณะออกกำลังกาย ซึ่งทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วยการตรวจเช็กหัวใจเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอและครบทุกรายการตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ 

           นพ.อนุสิทธิ์ ทัฬหสิริเวทย์ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า สถิติของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า อาการวูบคาสนามทำให้นักกีฬามีโอกาสเสียชีวิตถึง 1 ใน 50,000 คนต่อการแข่งขันกีฬาระดับวิทยาลัยและอาจจะสูงถึง 1 ใน 5,000คนในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล โดยในนักกีฬาที่อายุมากกว่า 35 ปีมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากถึง5% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและมักพบในนักกีฬาผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  โดยสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเกิดอาการวูบกลางสนามมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น 1) กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ซึ่งป็นโรคที่พบได้ในนักกีฬาอาชีพ เกิดจากการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย หรือเกิดได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรม 30% และจะพบได้มากในนักกีฬาผิวดำ โดยหากตรวจเจอว่ามีพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อหัวใจแล้วลงแข่งกีฬาหนัก ๆ อาจเกิดแรงกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตแบบ Sudden Death ได้ เพราะเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นมา จะไปขัดขวางระบบการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจทำงานหนัก และถ้านักกีฬาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา แล้วต้องลงแข่งกีฬาเป็นเวลานาน ๆ และออกแรงมาก ๆ จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายแบบฉับพลันจนวูบกลางสนามได้  2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นอันตรายรุนแรง จึงทำให้เป็นข้อห้ามในการออกกำลังกาย เพราะอาจกระตุ้นให้หัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะและหยุดเต้นได้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตขณะออกกำลังกายได้สูง 3) หัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกาย เพราะการแข่งขันในแต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่จนส่งผลให้ระบบไฟฟ้าหัวใจเสียสมดุลและเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา ในบางกรณีคือไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองมีภาวะหัวใจผิดปกติ โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ทำให้ละเลยการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ รู้ตัวอีกทีอาจสายเกินไป 




            ในการออกกำลังกายจะมีการจัดโซนจากเบาที่สุดไปจนถึงหนักที่สุด โดยแต่ละโซนจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต่อนาที (MPHR) ที่แตกต่างกัน การที่เรารู้ลิมิตของแต่ละโซนจะทำให้สามารถเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพหัวใจได้Zone 1 50 - 60% MPHR (Very Light) คือการออกกำลังกายเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง จะไม่รู้สึกเหนื่อยมาก Zone 2 60 - 70% MPHR (Light) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ช่วยดึงไขมันออกจากร่างกาย ดีต่อหัวใจและปอด Zone 3 70 - 80% MPHR (Moderate) ช่วยระบบเผาผลาญ เพิ่มความฟิต เหงื่อออกมาก เหมาะกับคนรักสุขภาพที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย Zone 4 80 - 90% MPHR (Hard) ช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่กล้ามเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย เกิดการหายใจเร็ว กล้ามเนื้อตึงล้ามาก เหมาะกับนักกีฬาหรือคนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ Zone 5 90 - 100% MPHR (Maximum) การเพิ่มศักยภาพในการออกกำลังกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว กล้ามเนื้อเกิดการตึงล้า เหมาะกับนักกีฬาที่ฝึกซ้อมเพื่อเตรียมตัวลงแข่งขัน 

            การตรวจเช็กความฟิตของนักกีฬาก่อนลงแข่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยป้องกันอาการวูบคาสนามและหัวใจล้มเหลวขณะออกกำลังกายได้ โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น 1) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG - Electrocardiogram) เป็นการคัดกรองความผิดปกติของหัวใจ ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของหัวใจ ทำให้สามารถลดการเสียชีวิตในกลุ่มของนักกีฬาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีได้ถึง90% 2) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test) จะทำให้ทราบระบบไหลเวียนเลือดและกราฟไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในระยะที่มากกว่า 70% ได้ 3) ตรวจหัวใจด้วยMRI (Magnetic Resonance Imaging)แสดงการบีบตัวของหัวใจได้ใกล้เคียงอวัยวะจริงมากที่สุด สามารถแสดงตำแหน่งทางเดินของเส้นเลือดหัวใจว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญคือ ใช้ในการตรวจค้นหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตรวจหาพังผืดในโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เพื่อป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกาย 4) ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Scan: CAC)เป็นการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป  

            และในทุกการแข่งขันผู้จัดควรเตรียมอุปกรณ์การช่วยชีวิตให้พร้อม โดยเฉพาะเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) อุปกรณ์ที่ช่วยช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่ถูกต้อง และควรมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถทำการช่วยชีวิตได้ทันทีหากมีเหตุฉุกเฉินขณะทำการแข่งขัน ซึ่งการช่วยเหลือจะต้องถูกวิธีและอยู่ระหว่าง 3 - 5 นาที เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ซึ่งก่อนช่วยเหลือควรตรวจสอบสภาพแวดล้อมว่าปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ โทรสายด่วน 1669หรือรถพยาบาลสนามที่มีเครื่อง AED เพื่อทำการช่วยเหลือ โดยเริ่มจากการเรียกผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าไม่มีการตอบสนองให้ทำการฟื้นคืนชีพโดยกดหน้าอกทันทีจนกว่าเครื่อง AED หรือทีมรถพยาบาลจะมาถึง 

            สำหรับนักกีฬาอาชีพสิ่งสำคัญคือการตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกปีเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายพร้อมที่จะลงแข่ง โดยเฉพาะการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด ส่วนคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายควรตรวจเช็กสุขภาพทุกปี ที่สำคัญหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายจะได้พบแพทย์ได้ทันท่วงที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000โทร.1719  หรือ HEART CARE LINE Official : @hearthospital  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad