ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SCBT ที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะสั้น (Short-Term Issuer Default Rating) ของ SCBT ที่ ‘F1’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ที่ ‘bbb’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘1’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AAA(tha)’

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตสากล และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารแม่ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (SCB, อันดับเครดิตสากล ‘A+’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ‘a’) จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่บริษัทลูกในไทยในกรณีที่จำเป็น โดยอ้างอิงจากการที่ ธนาคารแม่ถือหุ้นในสัดส่วน 99.9% ใน SCBT โดย SCBT มีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนธุรกิจในภูมิภาคของกลุ่ม มีการผสานการดำเนินงานกันอย่างใกล้ชิด มีการควบคุมการบริหารงานและมีการใช้ชื่อและสัญญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่

ฟิทช์ใช้อันดับความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารแม่แทนที่จะใช้อันดับเครดิตสากลระยะยาวเป็นอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) สำหรับการประเมินปัจจัยสนับสนุนสำหรับธนาคารลูก เนื่องจากฟิทช์มองว่าอาจมีความไม่แน่นอนว่า SCBT จะได้รับประโยชน์จาก qualifying junior debt ของธนาคารแม่ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ SCB มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสูงกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน โดยอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT ได้รับการจัดอันดับที่ระดับต่ำกว่า VR ของ SCB อยู่หนึ่งอันดับ เนื่องจาก SCBT มีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดน้อยกว่าธนาคารคารลูกอื่นๆ ของ SCB ที่มีขนาดใหญ่กว่า แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCBT สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT พิจารณาจากโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ ฟิทช์เชื่อว่าโครงสร้างอันดับเครดิตของ SCBT ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนมีความสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของ SCBT สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘BBB+

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานะเงินกองทุนหลักที่แข็งแกร่งของธนาคาร สภาพคล่องที่แข็งแกร่งและการยอมรับความเสี่ยงของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลาง โครงสร้างทางธุรกิจของ SCBT มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และธนาคารซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อกลุ่มลูกค้าเช่น SME และลูกค้ารายย่อยที่มีความเสี่ยงต่อสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายจะสร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของ SCBT แต่ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ SCBT จะยังคงต่ำกว่าธนาคารอื่นที่มีอันดับใกล้เคียงกัน (สิ้นปี 2563: 0.3%) ฟิทช์ยังเชื่อว่าความเสี่ยงที่ต่ำกว่าจากการถือครองสินเชื่อระหว่างธนาคารและหลักทรัพย์รัฐบาล (รวม 61% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563) ของ SCBT จะช่วยให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคายังคงมีเสถียรภาพแม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ฟิทช์คาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของ SCBT จะลดลงในปี 2564 จากแรงกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินและฐานะเงินกองทุนของธนาคารน่าจะสามารถรองรับการสูญเสียที่ไม่คาดคิดได้

ฐานะเงินกองทุนของ SCBT อยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในภาคการธนาคารของไทย โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 30.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 (ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 16.2%) ฟิทช์คาดว่าธนาคารจะคงอัตราส่วนเงินกองทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุน

– ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความสามารถหรือโอกาส ของ SCB ในการให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับหรืออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศได้รับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘มีเสถียรภาพ’ แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะไม่ได้รับการปรับอันดับเพิ่มอันดับ หากไม่ได้มีการปรับเพิ่มเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ ‘A-’

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย

อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้วจึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้

– ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับตัวลดลงในความสามารถของ SCB ที่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร) จะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลของ SCBT และอันดับเครดิตสนับสนุนได้รับการปรับลดอันดับ

การปรับตัวลดลงของโอกาสที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลของธนาคารลูกและอันดับเครดิตสนับสนุนได้รับการปรับลดอันดับ ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ลงต่ำกว่า 75% พร้อมทั้งการลดลงของอำนาจควบคุมการบริหารงานและความเชื่อมโยงทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยะสั้น

การปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับแต่อย่างไรก็ตามฟิทช์จะพิจารณาความแข็งแกร่งโครงสร้างเครดิตของ SCBT เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน

– ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT เป็น ‘bbb+’ หากรูปแบบของธุรกิจ (business model) ของธนาคารมีการกระจายตัวของธุรกิจที่ดีขึ้น (diversification) เครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารปรับตัวดีขึ้นและหากธนาคารมีกำไรที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากผ่านพ้นภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจรวมถึงการรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 2.5% รวมถึงการรักษาอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูงและมีระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่สูงกว่า 17% ในระยะยาว

– ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น ‘bbb-’ หากฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ของฟิทช์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนโดยการปรับลดคะแนนสำหรับหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% (สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 0.3%) ร่วมกับการมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่น้อยลงเช่นการมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่า 15% (สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 30.2%) และการมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 120%

– อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของ SCBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB

– การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1’
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1’
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ ‘bbb’
  • อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘1’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad