PwC ประเทศไทย คาดปี 64 รายได้อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยเฉียด 5.5 แสนลบ. - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

PwC ประเทศไทย คาดปี 64 รายได้อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยเฉียด 5.5 แสนลบ.


PwC ประเทศไทย คาดปี 64 รายได้อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยเฉียด 5.5 แสนลบ.

ธุรกิจหนังสือ สื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิม และหนังสือพิมพ์และนิตยสารติด 3 อันดับตลาดที่จะเห็นการเติบโตติดลบในปีนี้

กรุงเทพฯ, 27 มกราคม 2564 – PwC คาดการณ์รายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยจะเติบโต 6.3% ที่เกือบ 5.5 แสนล้านบาทในปี 64 จาก 5.15 แสนล้านบาทในปี 63 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสื่อภาพยนตร์-เพลง วิทยุ และพ็อดคาส-ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านจะเป็น 3 อันดับตลาดที่พลิกกลับมามีอัตราการเติบโตสูงที่สุดเปรียบเทียบกับปีก่อน พร้อมแนะจับตาตลาดน้องใหม่อย่างวิดีโอเกมและอีสปอร์ต จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดคาดรายได้ทะลุ 3.5 หมื่นล้านบาทภายในปี 67


นางสาว ธิตินันท์ แว่นแก้ว หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานสื่อและบันเทิง บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Entertainment & Media (E&M) Outlook 2020-2024 ของ PwC ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลด้านรายได้และคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของ 14 กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงใน 53 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยว่า รายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยปี 2564 จะอยู่ที่ 547,640 ล้านบาท หรือเติบโตราว 6.3% จากปี 2563 ที่คาดว่าอยู่ที่ 515,243 ล้านบาท และคาดว่า รายได้ของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยจะสูงกว่า 6 แสนล้านบาทภายในปี 2567

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ได้ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดยจากรายงานของเราพบว่า รายได้ของกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยเติบโตลดลง 2% ในปีที่แล้วเปรียบเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า ตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ โดยธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจเพลง วิทยุ และพ็อดคาส และธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านจะเป็น 3 เซ็กเมนต์ที่น่าจะเห็นการเติบโตที่โดดเด่น สวนทางกับธุรกิจหนังสือ ธุรกิจทีวีแบบดั้งเดิม และหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่คาดจะเห็นการเติบโตติดลบ” นางสาว ธิตินันท์ กล่าว


ทั้งนี้ การใช้จ่ายของ 3 อันดับสื่อและบันเทิงของไทยที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในปี 2564 ได้แก่ ธุรกิจภาพยนตร์ (เติบโต 54% จากปีก่อนมาที่ 7,604 ล้านบาท) ธุรกิจเพลง วิทยุ และพ็อดคาสท์ (เติบโต 27% จากปีก่อนมาที่ 12,280 ล้านบาท) และธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน (เติบโต 25% จากปีก่อนมาที่ 12,944 ล้านบาท) ตามลำดับ ในทางกลับกัน ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลให้ การใช้จ่ายของ 3 อันดับสื่อและบันเทิงของไทยมีอัตราการเติบโตติดลบในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจหนังสือ (-1.59% มาที่ 25,278 ล้านบาท) สื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิม (-0.42% มาที่ 19,949 ล้านบาท) และหนังสือพิมพ์และนิตยสาร (-0.03% มาที่ 34,002 ล้านบาท)

เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลก พบว่า ในปี 2563 การใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงปรับตัวลดลง 5.6% จากปีก่อน โดยถือเป็นการปรับตัวลดลงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่มีการจัดทำรายงานฉบับนี้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัวและเติบโต 6.4% ที่ 67,129,279 ล้านบาทในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปี (2562-2567 Compound Annual Growth Rate: CAGR) ที่ 2.83% ต่ำกว่าไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.38%

จับตาตลาดวิดีโอเกมและอีสปอร์ตไทย

รายงานของ PwC ยังคาดการณ์ว่า ตลาดวิดีโอเกมและอีสปอร์ต (Video games and esports) ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่น โดยจะมีมูลค่าการใช้จ่ายแตะ 35,387 ล้านบาทภายในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 29,749 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปี (2562-2567 CAGR) ที่ 7.2% ซึ่งนับเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากปากีสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตามลำดับ

“ปัจจุบันวงการอีสปอร์ตในประเทศไทยนั้น กำลังมาแรงและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอีสปอร์ตนั้นไม่ใช่แค่การเล่นเกมส์ออนไลน์อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจอีกต่อไป แต่ถือเป็นกีฬาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้บรรจุเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ธุรกิจอีสปอร์ตยังก่อให้เกิดอาชีพมากมายสำหรับคนที่อยู่ในแวดวงไม่ว่าจะเป็น นักกีฬา นักพากย์ หรือนักสตรีมมิ่ง และยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีภาคธุรกิจหันมาสนใจเป็นสปอนเซอร์ และเข้ามาลงทุนในเซ็กเมนต์นี้กันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นธุรกิจที่เหมาะกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง” นางสาว ธิตินันท์ กล่าว

รายงานของ PwC ระบุว่า การเติบโตของเกมบนมือถือในไทยยังได้เปิดประตูไปสู่ตลาดผู้บริโภควิดีโอเกมหน้าใหม่ ๆ ที่ในอดีตอาจจะไม่มีเงินทุน หรือไม่เคยสนใจที่จะเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และเครื่องเล่นเกมมาก่อน โดยรายได้ของเกมโซเชียล หรือเกมเมอร์ประเภทฆ่าเวลา (Social/casual gaming) ได้แซงหน้ารายได้เกมในรูปแบบแบบดั้งเดิมในปี 2560 และขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา

เมื่อถามถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยในปี 2564 นางสาว ธิตินันท์ กล่าวสรุปว่า

“ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ท้าทายของอุตสาหกรรม E&M และเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก เพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่เรามองว่า มูลค่าการใช้จ่ายของอุตสาหกรรมโดยรวมจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ในปีนี้ โดยการที่ผู้บริโภคหันมาตอบรับเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลอย่างรวดเร็ว จะก่อให้เกิดทั้งผลบวกและผลลบกับสื่อแต่ละประเภทในระดับที่แตกต่างกันไป ผู้ประกอบการสื่อที่ปรับตัวได้เร็ว และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไปสู่ดิจิทัล จะมีความได้เปรียบและสามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะแบบนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังคงให้บริการในรูปแบบดั้งเดิมจะเผชิญกับความยากลำบากในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด หรืออาจถึงกับต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด”

//จบ//

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad