สนค. เสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ นำผู้เชี่ยวชาญแนะนำปั้นแบรนด์ การทำธุรกิจ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สนค. เสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ นำผู้เชี่ยวชาญแนะนำปั้นแบรนด์ การทำธุรกิจ

img

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เดินหน้าเสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ เชิญผู้เชี่ยวชาญแนะนำเรื่องปั้นแบรนด์ เน้นคอนเซ็ปต์ จาก Local สู่เลอค่า พร้อมเพิ่มพูนความรู้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้งการทำแผนธุรกิจ การเพิ่มช่องทางการตลาด 
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา สนค. ได้จัดกิจกรรมอบรมออนไลน์เชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์” จังหวัดน่าน ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ช่วยพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยได้นำผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน คือ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบ สไตล์ จำกัด และ นายวัชรากรณ์  ขันธจีระวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด มาร่วมให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาตราสินค้าชุมชน และการพัฒนาด้านการตลาดอย่างครบวงจร ตลอดจนต่อยอดและถ่ายทอดความรู้ไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่น ให้เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบในพื้นที่ต่อไป พร้อมกับการสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมี นายมนต์ศักดิ์ ไชยรังสินันท์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ จังหวัดน่าน นำสมาชิกและเครือข่ายเข้าร่วม
         
ทั้งนี้ สนค. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 90,000 ราย โดยมีแผนที่จะคัดเลือกกลุ่มที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนายกระดับให้กลุ่มเหล่านี้มีความเข้มแข็ง และสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่รูปแบบการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างมาก และยังมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ที่พร้อมจะช่วยสนับสนุนงานของวิสาหกิจชุมชนด้วย
         
สำหรับสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ เป็นสินค้าที่ได้นำวัตถุดิบจากข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ และข้าวในจังหวัดน่าน มาแปรรูปเป็น “มอลต์” แล้วใส่ในสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกาย โดย สนค. เห็นว่า หากเข้าไปช่วยพัฒนาแบรนด์สินค้า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการทำธุรกิจ ทั้งการขายออฟไลน์และออนไลน์ จะช่วยให้สินค้าชุมชนเติบโตได้เพิ่มขึ้น

นายสุทธิพงษ์ สุริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบ สไตล์ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาแบรนด์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะสินค้าชุมชน จะต้องเน้นการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวอัตลักษณ์ต่าง ๆ ภายในชุมชนผ่านแบรนด์ เพื่อสร้างความจดจำให้กับผู้บริโภค และขอให้ยึดคอนเซ็ปต์จาก Local สู่ เลอค่า โดยมีปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ผู้นำกลุ่มต้องเข้มแข็ง เลือกสินค้าชุมชนที่มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมาซื้อ ผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน นำความคิดเรื่องความยั่งยืนมาปรับใช้ บรรจุภัณฑ์ต้องโดดเด่น สวยงาม แข็งแรง ใช้การสื่อสารอย่างมีสไตล์ มีรสนิยม แต่ยังคงความเรียบง่ายของชุมชน และควรมีกิจกรรม DIY เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก และดึงดูดการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น จำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น
         
นายวัชรากรณ์ ขันธจีระวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนธุรกิจ ที่จะต้องมีความชัดเจน การพัฒนาช่องทางตลาด ที่ต้องทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และการจัดทำบัญชี เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและรายได้โดยละเอียด เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน 
         
นายมนต์ศักดิ์ ไชยรังสินันท์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนได้ว่า แม้ในยามวิกฤติก็ยังมีโอกาสเสมอ เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รูปแบบการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี และการค้าออนไลน์ ดังนั้น หากวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายเล็กเตรียมตัวให้พร้อม ก็จะมีส่วนช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจระดับประเทศได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad