“จุรินทร์”เห็นชอบตั้ง“กองทุน FTA” ชงคลังพิจารณาต่อ ของบประเดิม 5,000 ล้าน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“จุรินทร์”เห็นชอบตั้ง“กองทุน FTA” ชงคลังพิจารณาต่อ ของบประเดิม 5,000 ล้าน

img

“จุรินทร์”เห็นชอบการจัดตั้ง “กองทุน FTA” เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้สามารถรับมือกับการแข่งขันเสรี เซ็นส่งเรื่องถึง “คลัง” แล้ว ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ก่อนนำเสนอ ครม. เผยแนวทางช่วยเหลือ จะช่วยทั้งจ่ายขาด และเงินกู้ยืม ประเดิมขอเงินกองทุน 5,000 ล้านจากรัฐบาล พร้อมเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีใช้เป็นเงินหมุนเวียน 
         
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เห็นชอบข้อเสนอการจัดตั้งกองทุน FTA ของคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และได้ส่งเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เพื่อขอให้นำเรื่องการขอจัดตั้งกองทุน FTA ของกระทรวงพาณิชย์ เข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน FTA ก่อนเสนอครม. ตามกระบวนการตรากฎหมายด้วย

สำหรับกองทุน FTA ที่เสนอจัดตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะให้ความช่วยเหลือใน 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด เช่น การวิจัยพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษา การฝึกอบรม กิจกรรมที่สนับสนุนการตลาด และเงินกู้ยืม เช่น เงินลงทุน ค่าใช้จ่ายหมุนเวียน โดยจะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน เกษตร วิชาการ และธนาคาร เพื่อเป็นตัวกลางให้กับกลุ่มผู้ขอรับความช่วยเหลือในการช่วยเขียนโครงการและเสนอโครงการมายังกองทุน


นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ส่วนที่มาของเงินกองทุนส่วนใหญ่ จะขอทุนประเดิมจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาท และจากงบประมาณประจำปี 120-150 ล้านต่อปี และกองทุนจะมีการพิจารณาจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ได้ประโยชน์จาก FTA ทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการในภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งในเบื้องต้นได้มีข้อเสนอให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ประสงค์จะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและไม่เป็นภาระเกินความจำเป็นต่อภาคเอกชน  
         
การผลักดันจัดตั้งกองทุน FTA เป็นไปตามนโยบายของนายจุรินทร์ ที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาจากการทำ FTA ที่แม้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการค้า แต่ก็มีความท้าทาย เนื่องจากด้านหนึ่งมีผู้ได้ประโยชน์ อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็นที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีเสียงเรียกร้องและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้รัฐมีการจัดตั้งกองทุน FTA อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ให้สามารถปรับตัวรับมือกับการแข่งขันในตลาดการค้าเสรี จึงได้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางและจัดทำข้อเสนอการจัดตั้งกองทุน FTA
         
ปัจจุบัน ไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู และความตกลง RCEP ที่กำลังจะมีผลใช้บังคับในปีหน้า จะเป็นฉบับที่ 14 ของไทย

รายงานข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การจัดตั้งกองทุน FTA อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการจัดทำ FTA เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 178 ที่ได้กำหนดให้มีการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบทางด้านนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad