“จุรินทร์”ย้ำส่งออกเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ลุยจับมือเอกชนปั๊มยอดต่อ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

“จุรินทร์”ย้ำส่งออกเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ลุยจับมือเอกชนปั๊มยอดต่อ

img

“จุรินทร์”ย้ำการส่งออกยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังท่องเที่ยวยังคงชะงัก เผยตัวเลข 7 เดือนโตกว่าเป้าแล้ว 4 เท่า คาดทั้งปียังเป็นบวก เตรียมจับมือภาคเอกชนลุยต่อ ทั้งแก้ปัญหาติดขัด ร่วมมือเพิ่มยอด โชว์ผลงานแก้ปัญหา ทั้งขาดแคลนตู้ส่งออก ค่าระวาง ส่งออกรถไปเวียดนาม กำลังจะช่วยอาหารกระป๋อง แนะจับตาการกีดกันการค้า กติกาการค้าใหม่ และจีนขอเข้า CPTPP เหตุเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทย   
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” ว่า ที่ผ่านมา ไทยไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจขาเดียวในการนำรายได้เข้าประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุด 2 ขา คือ การท่องเที่ยว และการส่งออก เมื่อขาหนึ่งเดี้ยง เศรษฐกิจไทยก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อไรอีกขาหนึ่งซ่อมเสร็จ สถานการณ์เอื้ออำนวย จะยิ่งไปโลด โดยก่อนโควิด-19 ท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศ 11.33% ของจีดีพี การส่งออกประมาณ 45% รวมเป็น 66% ที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่ปัจจุบันท่องเที่ยวเหลือแค่ 1.87% ส่งออกแทนที่จะแย่ไปด้วย แต่เป็น 50.83% ส่งออกบวกท่องเที่ยวกลายเป็น 52% ยังไม่ถึงกับเลวร้าย เป็นตัวเลขที่อยากให้เห็นภาพ ดังนั้น การส่งออกยังคงเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจได้
         
ทั้งนี้ การส่งออกปี 2564 มีการเติบโตชัดเจน เป็นบวกตั้งแต่มี.ค. ที่ 7% เม.ย. บวก 11% พ.ค.บวก 41% และมิ.ย. บวก 43% เป็นนิวไฮต์ใหม่ เดือนก.ค.บวก 20% คาดว่าส.ค.จะบวกน้อยกว่านี้ เพราะผลกระทบโควิด-19 และล็อกดาวน์ กระทบภาคการผลิต โรงงานบางแห่งปิดตัว หรือปิดการผลิตบางส่วน การขนส่งโลจิสติกส์ข้ามจังหวัดข้ามประเทศมีความเข้มงวด แต่เชื่อว่ายังเป็นบวกอยู่ ส่วนภาพรวม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่ม 16.2% โต 4 เท่าของเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% และทั้งปีก็จะยังเป็นบวกอยู่
         
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออก ได้ใช้การขับเคลื่อนโดยรัฐหนุน เอกชนนำ เอกชนเป็นพระเอกเป็นกองหน้า ยิงประตู รัฐเป็นกองหลังคอยสนับสนุน และได้ตั้ง กรอ.พาณิชย์ จับมือกันแก้ปัญหาการส่งออก และขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมา ได้แก้ปัญหาเชิงรุกชัดเจน เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การเปิดให้เรือใหญ่ขนาด 300-400 เมตรเข้ามาเทียบท่า นำตู้เข้ามาช่วยส่งออก การแก้ไขปัญหาส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ที่มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ทำให้ไม่ต้องตรวจทุกล็อต การแก้ปัญหาค่าระวางเรือแพง ได้ผลักดันให้ SMEs รวมตัวกันซื้อ แต่ติดปัญหาออเดอร์เป็นความลับ จึงทำไม่ได้ จึงขอให้ช่วยลดค่าธรรมเนียมที่ท่าเรือแทน ซึ่งต้องแก้ต่อไป ส่วนเรือที่เข้ามารับสินค้า หากเอาตู้เข้ามาแล้ววางไว้ที่ท่าเรือในไทย เอาสินค้าไทยขึ้น ทำไม่ได้ หรือประเทศใกล้เคียงอยากเอาของมาขึ้นที่แหลงฉบัง แล้วให้เรือใหญ่มารับ ก็ทำไม่ได้ เพราะติดขัดระเบียบ ก็ต้องหาทางแก้เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง  
         
ส่วนเรื่องต้นทุนกระป๋องแพง เพราะเหล็กนำเข้าแพง และไทยเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) วิธีแก้ คือ ลดภาษีลง เพื่อให้เข้ามาง่ายขึ้น มาขายในราคาถูกลง ต้นทุนกระป๋องที่ใช้ในการผลิตถูกลง ก็จะแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ เพราะการส่งออกอาหารกระป๋องเกือบ 3% ของยอดส่งออกทั้งหมด
         
นอกจากนี้ ยังได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการส่งออก ด้วยการตั้งทีมเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีกิจกรรมอีกอย่างน้อย 130 กิจกรรม ที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนการส่งออก
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะจะมีผลกระทบต่อการส่งออก คือ การกีดกันการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะรุนแรงขึ้น และมีรายการเพิ่มขึ้น เช่น ด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่ต่อไปนี้ สินค้าและประเทศไหนผลิตให้เกิดคาร์บอนทำโลกร้อน จะเก็บภาษีคาร์บอน โดยสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มแล้วภายใน 2 ปี จะเก็บภาษีคาร์บอนนำเข้าสินค้าไปยังอียูในสินค้า 5 รายการ ได้แก่ 1.เหล็ก 2.อะลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ไฟฟ้า 5.ปุ๋ย
         
ขณะเดียวกัน ต้องติดตามสถานการณ์โลก อย่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ และออสเตรเลีย จับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก มีนัยสำคัญ คือ สหรัฐฯ จะช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเดิมออสเตรเลียซื้อจากฝรั่งเศส จึงต้องติดตามต่อไป เพราะมีการเอาการเมืองมามัดติดกับการค้า โดยไทยต้องวางจุดยืนว่าจะอยู่ตรงไหน ซึ่งได้แสดงท่าทีไปว่าต้องจับมือกับอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง รวมทั้งต้องศึกษาความตกลงและกติกาการค้าให้ลึก ทั้ง FTA Mini FTA และ RCEP เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า และต้องติดตามใกล้ชิดกรณีจีนขอสมัครเป็นสมาชิก CPTPP เพราะอาจกระทบไทย จากการที่จีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทย เมื่อจีนปรับมาตรฐานการส่งออก สินค้าไปจีนต้องภายใต้มาตรฐานใหม่ ต้องติดตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad