ครั้งแรกของไทย...ผลงานจัดสวน ชื่อ The Calm of Bangkok คว้ารางวัลระดับโลกในงาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 ( RHS Chelsea Flower Show) ที่ลอนดอน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

ครั้งแรกของไทย...ผลงานจัดสวน ชื่อ The Calm of Bangkok คว้ารางวัลระดับโลกในงาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 ( RHS Chelsea Flower Show) ที่ลอนดอน

ครั้งแรกของไทย...ผลงานจัดสวน ชื่อ The Calm of Bangkok คว้ารางวัลระดับโลกในงาน  อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 ( RHS Chelsea Flower Show)  ที่ลอนดอน

เมื่อเอ่ยถึงมหกรรมแสดงดอกไม้และจัดสวนแล้ว ไม่มีงานใดจะยิ่งใหญ่เท่างานอาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 (RHS Chelsea Flower Show) มหกรรมแสดงดอกไม้และจัดสวนที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก ในย่านเชลซี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งคนอังกฤษและนานาประเทศปักหมุดในปฏิทินที่ต้องมาเช็คอิน มีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 166,500 คน จัดแสดงในวันที่ 21 - 26 กันยายน 2564 ผู้ชมเฝ้ารับเสด็จเจ้าฟ้าหญิงแอนน์และสมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษซึ่งมาร่วมงาน ล่าสุดสองหนุ่มสาวสถาปนิกไทยคนรุ่นใหม่ คุณธวัชชัย ศักดิกุล และ คุณพลอยทับทิม สุขแสงสร้างความฮือฮาและนำชื่อเสียงสู่ประเทศไทยโดยคว้ารางวัล Silver Gilt ด้วยผลงานสวนบ้านในเมือง ชื่อว่า The Calm of Bangkok หรือ ความสงบงามของกรุงเทพฯที่นำเสนอแง่มุมความวุ่นวายของกรุงเทพแต่แฝงด้วยความสงบงาม เรียบง่าย นับเป็นครั้งแรกของคนไทยบนเวทีระดับโลกท่ามกลางนักจัดสวนจากนานาประเทศ

            งาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์   เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความสุนทรีย์ในศิลปะการจัดสวนของอังกฤษทีมีประวัติมายาวนานกว่า 159 ปี จัดโดย สมาคมพฤกษชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์แห่งราชวงศ์อังกฤษ (Royal Horticultural Society : RHS) มีเว้นว่างการจัดไป 3 ครั้ง คือ ช่วงสงครามโลก 2 ครั้ง และปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19  สำหรับธีมงานปีนี้คือ ยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี(Health and Well-Being) ด้วยสวนและพันธุ์พฤกษชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและความงดงามแก่สังคม ย้อนประวัติการจัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1862 ในชื่อของ RHS Great Spring Show ที่แขวงเคนซิงตัน ประเทศอังกฤษ จวบจนกระทั่งปี ค.ศ.1888 ได้ย้ายสถานที่จัดงานมายังย่านถนนฟลีต ใจกลางกรุงลอนดอน ต่อมาในปี ค.ศ.1913 ก็ย้ายสถานที่จัดอีกครั้งมายังบริเวณโรงพยาบาลรอยัลในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่แขวงเชลซี กรุงลอนดอน เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกในชื่อของ อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์  

             สำหรับงานปีนี้มี 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.การประกวดสวน ซึ่งมี 6 ประเภท คือArtisan Garden สวนขนาดเล็ก, Balcony Garden  สวนระเบียง, Container Gardenสวนกระถาง, Feature Garden สวนตกแต่ง, Sanctuary Garden สวนพักผ่อนขนาดกลาง และ Show Garden สวนโชว์ขนาดใหญ่ ส่วนที่ 2.แสดงการจัดดอกไม้ และ ส่วนที่ 3.ผลิตภัณฑ์จากสวน      

            คุณธวัชชัย ศักดิกุล (บอย) สถาปนิกนักจัดสวนคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ทีมกิ่ง ก้าน ใบ จากประเทศไทยซึ่งคว้ารางวัล Silver Gilt  กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานการจัดสวนของคนไทยได้มาปักธงบนเวทีระดับโลกได้สำเร็จ เราฝ่าด่านการประกวดสวนพักผ่อนบ้านในเมือง (Sanctuary Garden) ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า The Calm of Bangkok หรือ ความสงบงามของกรุงเทพฯ ซึ่งแนวคิดคอนเซ็ปต์ มาจากการที่เราอยากให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกรุงเทพฯ ในอีกมุมหนึ่งที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น คนส่วนใหญ่จะมองกรุงเทพเป็นเมืองที่แสนจะวุ่นวายด้วยกิจกรรมความเคลื่อนไหว ผู้คนจอแจ ร้านค้า สตรีทฟู้ดส์ การจราจรที่คับคั่ง แม้ความประทับใจแรกของผู้มาเยือน อาจจะเป็นเส้นสายของตึกสูงๆ ต่ำๆ ไม่เป็นระเบียบและสีสันที่ชวนตื่นตาตื่นใจ แต่อีกด้านหนึ่งของกรุงเทพฯ มีความน่าอยู่ มุมเรียบง่ายและผ่อนคลายซ่อนอยู่ แฝงไว้ด้วยความงดงามทางวัฒนธรรม ให้สัมผัสได้ถึงสุนทรียะของความสุขสงบ จึงได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านการออกแบบสวนในสไตล์มินิมอล โมเดิร์น (Minimal Modern) ซึ่งเป็นสไตล์การจัดสวนที่ลดทอนรายละเอียด เน้นสัดส่วนและองค์ประกอบที่เรียบง่ายแต่คมชัด ผสมผสานวัฒนธรรมไทยเข้ากับดีไซน์ทันสมัย เน้นความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างมั่นคง ใช้ได้ยาวนาน และดูแลรักษาง่าย มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้ที่แสวงหามุมสงบท่ามกลางความวุ่นวาย

    คุณพลอยทับทิม สุขแสง (พลอย) สถาปนิกผู้ร่วมออกแบบในทีมกิ่ง ก้าน ใบ จากประเทศไทย เผยจุดเด่นของการจัดสวนที่ชนะใจคณะกรรมการในประเทศอังกฤษ ว่าผลงานสวน The Calm of Bangkok เป็นสวนของบ้านในเมืองขนาดกลาง มีขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร เราเตรียมต้นไม้ไว้กว่า 1,200 ต้น เมื่อมองจากด้านหน้าจะเป็นต้นไม้และดอกไม้หลากพันธุ์ หลายเฉดสีและรูปทรงใบ จัดเรียงผสมผสานซ้อนทับ มีวัสดุแท่งโลหะ หรือ Pipe Sculpture สูงๆต่ำๆ แทรกอยู่ด้วย เปรียบเสมือนความไม่เป็นระเบียบและความยุ่งเหยิงของกรุงเทพฯ ถัดมาเป็นทางเดินที่ออกแบบด้วยแผ่นหินแกรนิตเซาะร่องตามยาว นำสายตาเข้ามาสู่ Shelter พื้นที่ศาลาพักผ่อนด้านในสุดที่เป็นตัวแทนของความสุข ความมั่นคงและความสงบที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย โดยระหว่างทางเดินเข้ามานั้นจะได้ซึมซับกับบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา รวมถึงพันธุ์ไม้ล้อมรอบ โครงสร้างของ Shelter เป็นไม้โทนสีเย็น เสาสูงเปิดโล่งรับลม รอยต่อเสาใช้ประกับเหล็ก ยกพื้นจากระดับดินทำให้ดูมีมิติ ส่วนผนังหลังคากรุด้วยผ้าซีทรู ให้ความรู้สึกโปร่งเบา ไม่อึดอัด แขวนเปลซึ่งถักทอด้วยเชือกธรรมชาติจากภูมิปัญญาไทยออกมาเป็นลวดลายและโทนสีโมเดิร์นด้วยฝีมือของคุณยายฉลวย สังขรัตน์ วัย 95 ปี ชุมชนหัตถกรรม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการผสมผสานความเป็นไทยและนำเสนอในแบบโมเดิร์นได้เป็นอย่างดี ข้างเปลวางโต๊ะไม้มะม่วง ผนังบางส่วนขึงด้วยเชือกถักล้อรับกัน ส่วนด้านหลังจะเป็นกำแพงเขียวของต้นไม้ให้อากาศบริสุทธิ์

            การจัดวางมุมพักผ่อนหันหน้าออกสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ธรรมชาติจะสร้างแสงและทอดเงาเป็นลวดลายจากโครงสร้างและพันธุ์ไม้ เปลี่ยนไปตามห้วงเวลายิ่งทำให้ดูแปลกตาสวยงาม แดดจะไม่ส่องตาเมื่อนอนพักผ่อน ไม่ว่าจะหันหน้าไปทิศไหนก็ตาม นอกจากนี้ เราได้ใส่ความเคลื่อนไหวจากบ่อน้ำกลมขนาดเล็ก ปูพื้นด้วยกรวด และนำท่อ Pipe Sculpture มาวางพาดเป็นน้ำตก เสียงน้ำไหลรินให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สื่อถึงความเย็นฉ่ำและความสุขสงบ Cool & Calm”

           คุณธวัชชัย ศักดิกุล (บอย) สรุปท้ายให้ข้อคิดเห็นถึงคุณค่าของสวนบ้านในเมืองในภาวะโควิด-19 ว่า โลกยุคดิจิทัลที่รีบเร่งเคร่งเครียด สวนของบ้านในเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนเมืองในวิถีใหม่ Next Normal มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายระลอกที่ทำให้คนไทยและหลายประเทศใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ที่บ้าน การใช้พื้นที่สวนกลางแจ้งในบ้านนับเป็นการเชื่อมต่อชีวิตกับธรรมชาติ สายลมและแสงแดด ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ เสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว อีกทั้งเป็นพลังของคนเมืองที่จะช่วยกันลดสภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชนและสังคมอีกด้วย สังคมและโลกที่น่าอยู่เริ่มต้นได้จากสวนภายในบ้าน

             นับเป็นอีกแรงบันดาลใจ ให้คนรุ่นต่อๆไป มุ่งมั่นฟันฝ่าความท้าทายให้โลกประจักษ์ กล้าฝัน กล้าทำ และก้าวสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับโลก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad