ตรวจภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นแค่ไหน มีอาการอะไรถึงจะเรียกว่า ‘แพ้วัคซีนโควิด-19’ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ตรวจภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นแค่ไหน มีอาการอะไรถึงจะเรียกว่า ‘แพ้วัคซีนโควิด-19’

  


ตรวจภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นแค่ไหน  

 

มีอาการอะไรถึงจะเรียกว่า ‘แพ้วัคซีนโควิด-19’ 


แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิ-19 ให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็พบว่าหลายคนยังสงสัยเกี่ยวกับอาการแพ้วัคซีนและกังวลว่าหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นจริงหรือไม่ ในประเด็นนี้ รศ.นพ.ฮิโรชิ จันทาภากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย[1] ได้ช่วยให้ความกระจ่าง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอาการแพ้และผลข้างเคียงของวัคซีน  


 

แพ้วัคซีน หรือแค่ผลข้างเคียง  

 

สิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจประการแรกคือยาทุกชนิดที่มีการใช้งานกับมนุษย์ล้วนมีผลข้างเคียง วัคซีนซึ่งถือเป็นตัวยาก็เช่นกัน ผลข้างเคียงคือคุณสมบัติหนึ่งที่เราทุกคนควรเตรียมใจที่จะประสบกับมัน เช่น อาการเจ็บบริเวณที่ฉีด บวมแดง มีไข้ต่ำๆ หรือปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทั้งนี้อาการเหล่านี้เกิดได้โดยทั่วไป และหายเองได้   

 

ขณะที่อาการแพ้วัคซีนมีอัตราการเกิดต่ำกว่ามาก คือประมาณ 5 ในล้านคน โดยอาการแพ้คือการตอบสนองต่อยาที่รุนแรงเกินกว่าที่คาดว่าจะเกิด มีลักษณะอาการที่รุนแรงกว่าปกติ เช่น เริ่มจากมีผื่นขึ้นที่ร่างกายจุดใดจุดหนึ่งแล้วลามไปบริเวณอื่นๆ มีอาการข้างเคียงอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ความดันตก หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการบวม โดยสำหรับวัคซีนที่มีใช้กันในวันนี้ ก็พบว่าทุกชนิดมีอัตราการเกิดอาการข้างเคียงในระดับที่ยอมรับได้ ไม่รุนแรงหรือแตกต่างกันมากนัก ขณะที่อาการแพ้รุนแรง ก็ไม่พบอัตราการเกิดที่สูงเป็นพิเศษ โดยในประเทศไทยพบอาการแพ้รุนแรง 5-10 ครั้งในการใช้วัคซีนกับประชากร 1 ล้านคน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับต่างประเทศ 

 

ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการแพ้ สามารถรักษาได้  

 

สำหรับทุกๆ หัตถการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาหรือให้วัคซีน คนไข้จะได้รับคำแนะนำให้นั่งอยู่ต่อที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 20-30 นาที เพื่อรอดูอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างนั่งรอ หากมีอาการผิดปกติใดๆ คนไข้ก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้สำหรับอาการแพ้รุนแรงกว่ 90% จะแสดงอาการเบื้องต้นภายใน 20-30 นาทีแรก เช่น มีผื่นคล้ายลมพิษลามไปทั่วตัว อาการตัวแดง อาการคันในบริเวณที่แปลกๆ (ฝ่ามือ รักแร้ หรืออวัยวะเพศ) หายใจลำบาก รู้สึกไม่สบายตัว ความดันต่ำ ปากหรือตาบวม เป็นต้น   

 

กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และศูนย์ฉีดวัคซีนต่างๆ มีตารางการสับเปลี่ยนวัคซีนที่ชัดเจน ในกรณีการพบผู้ที่แพ้วัคซีนเข็มแรก ก็จะได้รับการพิจารณาเปลี่ยนชนิดวัคซีน โดยในส่วนการวินิจฉัยอาการแพ้ว่าเป็นการแพ้ที่ส่วนไหนหรือแพ้ส่วนประกอบใด เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาวิจัยสืบหาคำตอบต่อไป 

 

“มีการพูดถึงอาการปลายประสาทชาหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งยังคงจัดว่าเป็นผลข้างเคียง หากเป็นไม่มาก จะค่อย ๆ หายได้เอง แต่หากเป็นมาก ก็อาจจะต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษา ทั้งนี้อาการแพ้วัคซีนบางตัว อาจมีผลเรื่องลิ่มเลือด ปลายประสาทชา หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจเกิดได้หลังจากฉีดวัคซีนระยะเวลาหนึ่ง อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็วต่างกัน โดยคนไข้ที่มีอาการสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาแพทย์ประจำตัวของตนได้ทันที ไม่จำเป็นต้องไปถามที่ศูนย์ฉีดเท่านั้น” รศ.นพ.ฮิโรชิ กล่าว 

 

ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีไข้ ไม่มีอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน 

 

การฉีดวัคซีนแล้วพบว่าผู้รับวัคซีนไม่มีอาการใดๆ เช่น เป็นไข้ หรือปวดเมื่อยตามตัว ไม่ถือว่าร่างกายของผู้รับวัคซีนมีความผิดปกติใดๆ เพราะปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้ไม่สัมพันธ์กับการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเพิ่มขึ้นโดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบ 

 

“การฉีดวัคซีนเป็นการเพิ่มสารใหม่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนประเภทไหน ร่างกายของเรารับรู้อยู่แล้ว สำหรับกรณีที่สงสัยกันว่าฉีดแล้วภูมิคุ้มกันขึ้นจริงหรือไม่ ในปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ไปเจาะเลือดตรวจ เพราะต่อให้ตัวเลขมากหรือน้อยก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าภูมิขึ้นดีมากหรือไม่ดีเลย เพราะตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่บ่งบอกว่าป้องกันโรคได้หรือไม่ แนะนำให้พิจารณคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนาและทดลองใช้วัคซีนก่อนการปรับใช้ในภาคปฏิบัติ ซึ่งจะได้ข้อสรุปมาแล้วว่าเมื่อฉีดในปริมาณหรือระยะห่างตามที่ระบุจะทำให้ป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ การตรวจที่ทำกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันไม่สามารถบอกการป้องกันโรคได้  หากต้องการตรวจ ตามหลักวิทยาศาสตร์ต้องทำโดยการเพาะเลี้ยงไวรัสแล้วเอาเลือดไปตรวจระดับการป้องกันโรค ซึ่งแตกต่างและมีความละเอียดกว่ามาก” รศ.นพ.ฮิโรชิ กล่าว 

 

 

แพ้ยาหรืออาหาร ก็ฉีดวัคซีนได้ 

 

ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาหรือแพ้อาหารรุนแรงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องตรวจสอบอะไรเพิ่มเติม เพราะวัคซีนไม่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะหรืออาหารทะเลเลย  

 

โดย รศ.นพ.ฮิโรชิ กล่าวว่า “คนที่แพ้ยาหรืออาหารบางชนิดก็สามารถไปฉีดวัคซีนได้ โดยเราพบว่าคนไข้ที่มีโรคภูมิแพ้ เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ก็ไม่ได้มีอาการแพ้มากไปกว่าคนอื่น แต่ก็เข้าใจได้ว่าคนกลุ่มนี้อาจวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ ต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติการแพ้อาหาร กินยากดภูมิอยู่ เป็นมะเร็ง หรือแม้แต่ปลูกถ่ายอวัยวะก็สามารถรับการฉีดวัคซีนได้”  

 

วัคซีนที่มีการใช้งานในโลกวันนี้ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงองค์การอาหารและยาของไทย ว่ามีผลดีในการป้องกันอาการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงและการลดอัตราการแพร่เชื้อได้บางส่วน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วติดโควิด-19 ครั้งแรก ก็จะมีอาการไม่มากและไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยสำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ควรปรึกษาบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยตรง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลชัดเจนทั้งในด้านข้อดีของวัคซีนรวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้  

 

 


[1] สัมภาษณ์ ณ วันที่ 14 กันยายน 2564 

 

 

เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า 

แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.com และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad