ERIA ชี้แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รุกสู่ดิจิทัล เร่งพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ERIA ชี้แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รุกสู่ดิจิทัล เร่งพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

img

“พาณิชย์”เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) แลกเปลี่ยนมุมมองการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เห็นพ้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล และการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน จะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวในระยะยาว
         
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นการประชุมประจำปี เพื่อวางนโยบายและกำหนดแผนงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนของสถาบัน ERIA ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลังสถานการณ์โควิค-19 และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของสถาบัน ERIA ในช่วงที่ผ่านมา
         
โดยในการประชุมครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติของโควิค-19 ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคและโลก การฟื้นฟูเศรษฐกิจและแนวทางสำคัญในการเดินหน้าต่อในอนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่ากระแสโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว
        
ส่วนผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา สถาบัน ERIA มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านวิชาการผลักดันให้ประเด็นและผลลัพธ์ต่าง ๆ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM Toolkit) ซึ่งเป็นแนวทางการปรับปรุงมาตรการ NTMs ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้า ลดต้นทุนและภาระในการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การศึกษาผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4 IR) เพื่อวางแนวทางการเตรียมพร้อมและการรับมือของอาเซียนในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อจัดทำรายงานการทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะกลาง (Mid-Term Review (MTR) of AEC 2025)
         
นอกจากนี้ สถาบัน ERIA ยังได้สนับสนุนอาเซียนโดยมีผลงานศึกษาวิจัย สัมมนา กิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น การเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกโดยส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลังงาน และสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนช่วยและสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ของอาเซียนและประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออก
         
ทั้งนี้ สถาบัน ERIA ก่อตั้งขึ้นตามมติของผู้นำในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพ.ย.2550 ประกอบด้วย ผู้แทนในระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียนและเอเชียตะวันออกผ่านงานวิจัยทางเศรษฐกิจ มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งปัจจุบันสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย และเมื่อต้นปี 2564 สถาบัน ERIA ได้รับการจัดอันดับใน Global Go To Think Tank Index for 2020 ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ให้เป็น International Economics Policy Think Tank อันดับที่ 9 ของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad