“สินิตย์”ชี้ช่องผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์-น้ำมันมะพร้าว ใช้ FTA-RCEP ขยายส่งออก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“สินิตย์”ชี้ช่องผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์-น้ำมันมะพร้าว ใช้ FTA-RCEP ขยายส่งออก

img

“สินิตย์”นำทีมผู้บริหารพาณิชย์ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี พบปะหารือผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง และผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าว ชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA และ RCEP ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในการสร้างแต้มต่อส่งออก “อรมน”เผยล่าสุดมี 17 ประเทศ ไม่เก็บภาษีไม้ยางพารา เหลือแค่เกาหลีใต้ ส่วนน้ำมันมะพร้าว ไม่เก็บ 17 ประเทศเช่นเดียวกัน คงเหลือแค่อินเดีย
         
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้นำทีมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการของบริษัท แพนด้า ยูเอสเอ จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางแปรรูป ใน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยบริษัทขอให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนความรู้เรื่องการส่งออกและแนวทางการขยายตลาดเพิ่มเติม ซึ่งได้ยืนยันว่าเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราสู่ตลาดต่างประเทศ และพร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทำตลาด
         
ทั้งนี้ ยังได้เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สวนลุงสงค์ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวอินทรีย์ที่ได้รับรางวัลโอทอประดับ 5 ดาว ทั้งน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและสกัดร้อนเพื่อการบริโภค และเครื่องสำอางจากน้ำมันมะพร้าว เช่น สบู่ โลชันทาผิว และแชมพู โดยใช้วัตถุดิบมะพร้าวในพื้นที่ รวมถึงใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า คือ แผ่นเช็ดเครื่องสำอางจากน้ำมันมะพร้าวรายแรกของประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องการขยายการส่งออกไปตลาดจีน และพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะให้คำแนะนำในการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ต่อไป เพราะมะพร้าว เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ และ จ.สุราษฎร์ธานีถือเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวอันดับ 3 ของประเทศ รองจากประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร และยังเป็นสินค้าที่มีลู่ทางการตลาดที่สดใส เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศผู้นำการส่งออกสินค้ายางพาราของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น โดยการส่งออกไปตลาดจีนและตลาดญี่ปุ่น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่จีนและญี่ปุ่นได้ยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าไม้จากจากไทยแล้ว จึงเป็นแต้มต่อและโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย และในต้นปี 2565 เมื่อความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 2,300 ล้านคนด้วย

ปัจจุบัน ไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง โดย 17 ประเทศคู่ FTA ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไม้ยางพาราให้ไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไม้ยางพาราอัตรา 5% และ 17 ประเทศ คู่ FTA ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ชิลี และเปรู ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าน้ำมันมะพร้าวให้ไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่ยังเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันมะพร้าวที่อัตรา 100%
         
สำหรับบริษัท แพนด้า ยูเอสเอ จำกัด เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางแปรรูปสำหรับห้องครัวและห้องน้ำ ที่มีมาตรฐานระดับสากล เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ใช้วัตถุดิบไม้ยางพาราใน จ.สุราษฎร์ธานี มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออกตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการลงทุนโดยนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่ได้เปิดโรงงานผลิตในจีนและเมียนมาแล้ว และบริษัทได้เข้ามาลงทุนใน จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเล็งเห็นถึงความพร้อมของวัตถุดิบไม้ยางพารา แรงงานมีทักษะ และความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและชาวสุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้มีการจ้างงานในพื้นที่ 80 คน และวางแผนขยายการจ้างงานเป็น 200 คน ในปลายปีนี้ พร้อมทั้งจะขยายพื้นที่โรงงานและเพิ่มเติมการจัดจำหน่ายตลาดในประเทศในอนาคต
         
ในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกสินค้าไม้ยางพาราสู่ตลาดโลก มูลค่า 709.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (21,861 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18.09% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน และ อาเซียน ส่วนการส่งออกน้ำมันมะพร้าวของไทยไปตลาดโลก มีมูลค่า 6.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (186.7 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.16% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สปป.ลาว รัสเซีย เกาหลีใต้ และฮ่องกง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad