“พาณิชย์”ขึ้นทะเบียน GI ใหม่ เป็นผลไม้จากภาคใต้ “มังคุดในวงระนอง-ส้มจุกจะนะ” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”ขึ้นทะเบียน GI ใหม่ เป็นผลไม้จากภาคใต้ “มังคุดในวงระนอง-ส้มจุกจะนะ”

img

“พาณิชย์”ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ใหม่อีก 2 รายการ เป็นผลไม้จากภาคใต้ “มังคุดในวงระนอง” และ “ส้มจุกจะนะ” มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน เตรียมเดินหน้าควบคุมคุณภาพ เพิ่มช่องทางการจำหน่าย เน้นออนไลน์มากขึ้น
         
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีก 2 รายการ ซึ่งเป็นผลไม้จากภาคใต้ คือ “มังคุดในวงระนอง” และ “ส้มจุกจะนะ” ซึ่งเป็นสินค้ามีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติ และลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างจากผลไม้ประเภทเดียวกันที่ปลูกในท้องถิ่นอื่น ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดของสินค้า และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น

โดยมังคุดในวงระนอง เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง มีผลใหญ่ ผิวเปลือกมันเรียบ เมื่อสุกจะมีสีดำ เนื้อมังคุดมีสีขาวปุยฝ้าย ไม่เป็นเนื้อแก้ว ไม่มียางไหล และไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อย ส่วนส้มจุกจะนะ มีทั้งพันธุ์เปลือกหนาและพันธุ์เปลือกบาง ผิวมันวาว เปลือกล่อน มีกลิ่นหอมจากต่อมใต้เปลือกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ครบทั้ง 77 จังหวัด ไปเมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา และล่าสุดสามารถขึ้นทะเบียน GI ได้ตามเป้าหมาย 150 รายการแล้ว สามารถทำสำเร็จก่อนไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าชุมชนได้สูงถึง 36,000 ล้านบาท และในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายในการขึ้นทะเบียน GI อีกจำนวน 18 รายการ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า หลังจากสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กรมฯ จะเข้าไปช่วยผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า ตลอดจนส่งเสริมประชาสัมพันธ์ ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับการตลาดยุคใหม่ที่เน้นช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง สร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad