สินค้า GI ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สินค้า GI ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

img

กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้า “กลองเอกราช” จ.อ่างทอง เป็นสินค้า GI จังหวัดสุดท้ายของประเทศ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา
         
ทำให้เป้าหมาย “1 จังหวัด 1 สินค้า GI” บรรลุผลสำเร็จลงได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564  
         
และทำให้ในทุกจังหวัดของประเทศไทย จะมีสินค้า GI อย่างน้อย 1 สินค้า ที่จะเป็นตัว “เชิดหน้าชูตา” ให้กับจังหวัด
         
โดยหลังจากที่ได้ผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ครบตามเป้าหมายแล้ว “กระทรวงพาณิชย์” ไม่ได้หยุดนิ่งเพียงแค่นี้
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ให้ได้เพิ่มขึ้น
         
เพราะมองว่า “การขึ้นทะเบียน GI จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า” ในฐานะสินค้า “ดี เด่น ดัง” ของชุมชน 
         
หลังจากนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI ต่อเนื่อง เริ่มจาก “เครื่องเคลือบเวียงกาหลง” จ.เชียงราย “ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” จ.นครราชสีมา วันที่ 27 ก.ค.2564
         
ตามต่อด้วย “มังคุดในวงระนอง” จ.ระนอง “ส้มจุกจะนะ” จ.สงขลา วันที่ 20 ส.ค.2564
         
ข้าวหอมปทุมธานี” จ.ปทุมธานี “ปลาสลิดบางบ่อ” จ.สมุทรปราการ วันที่ 3 ก.ย.2564
         
มังคุดเขาคีรีวง” จ.นครศรีธรรมราช “มะม่วงมันหนองแซงสระบุรี” จ.สระบุรี “เสื่อกกบ้านสร้าง” จ.ปราจีนบุรี “กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร” จ.ชุมพร “กระเทียมแม่ฮ่องสอน” จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 30 ก.ย.2564

ทุเรียนจันท์” จ.จันทบุรี และ “พริกไทยตรัง” จ.ตรัง วันที่ 6 ต.ค.2564 เป็น 2 รายการล่าสุด

ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนต.ค.2564 ได้มีการขึ้นทะเบียน GI รวมทั้งสิ้น 19 สินค้า เป็นสินค้า GI ไทย 18 รายการ และสินค้า GI ของญี่ปุ่น 1 รายการ  

โดยมีรายการที่ขึ้นทะเบียนช่วงต้นปี ก่อนกลองเอกราช คือ “ข้าวหอมข้าวเจ๊กชัยนาท” จ.ชัยนาท “ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน” จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 25 มี.ค.2564

ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร” จ.พิจิตร “เชอรี่ฮิกาชิเนะ” จากญี่ปุ่น วันที่ 30 เม.ย.2564 และ “เงาะทองผาภูมิ” จ.กาญจนบุรี วันที่ 28 มิ.ย.2564

รวมเบ็ดเสร็จ มีสินค้าชุมชนของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว 152 รายการ

ปัจจุบัน มูลค่าตลาดของสินค้า GI ทั้ง 152 รายการ มีมูลค่าที่เกิดขึ้นในประเทศประมาณ 36,000-40,000 ล้านบาท
         
ยังไม่รวมยอดรายได้จาก "การส่งออก" ที่เริ่มขยับขึ้นต่อเนื่อง
         
ล่าสุด ได้มีการผลักดันการส่งออกสินค้า GI ไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ถึง 12 ประเทศ จำนวน 8 รายการ ทำรายได้กว่า 500 ล้านบาท
         
ทั้ง 8 รายการ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ผ้าไหมยกดอกลำพูน ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และมะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว
         
ส่วนรายการล่าสุดอย่าง “ทุเรียนจันท์” ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียน ก็ยังไม่รวมยอดเข้ามา  

โดยคาดว่า ยอดการส่งออกสินค้า GI รวมจะเพิ่มขึ้นยิ่งกว่า “ก้าวกระโดด” เพราะถ้ารวมยอดของทุเรียนจันท์ที่ส่งออกได้แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท
         
มีโอกาสที่มูลค่าตลาดของสินค้า GI ทั้งในประเทศและส่งออก จะทะลุ 100,000 ล้านบาทได้ไม่ยาก
         
เมื่อพูดถึงตัวเลขรายได้แล้ว การจะสร้างรายได้ให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน สินค้าต้องดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานด้วย

ผู้บริโภค ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ถึงจะให้การ "ยอมรับ"
         


ก็อย่างที่ว่า คอนเซ็ปต์ของสินค้า GI คือ ดี เด่น ดัง ก็ต้องยึดหลัก ดี เด่น ดัง ต่อไป
         
เรื่องนี้ นายจุรินทร์ได้ย้ำและมอบเป็นนโยบายชัดเจน ไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนรายการสินค้า แต่ต้อง “คุมเข้ม” ในเรื่อง “คุณภาพ” และ “มาตรฐาน” ด้วย
         
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ บอกว่า สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการขึ้นทะเบียน GI ก็คือ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อรักษา “ชื่อเสียง” ของสินค้า GI ให้เป็นที่ยอมรับ
         
ตอนนี้ ได้เข้าไปช่วยผลักดันให้มีการจัดทำ “ระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI” เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าเอาไว้
         
ถ้าตกมาตรฐาน หรือทำไม่ได้ตามมาตรฐาน ก็จะไม่ต่อตรา GI ให้ หนัก ๆ ก็อาจถึงขั้นยึดคืน ห้ามใช้
         
ไม่เพียงแค่เข้าไปควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ยังได้เข้าไปช่วย “พัฒนาบรรจุภัณฑ์” ผลักดันเป็น “สินค้าหรู ดูแพง” และขึ้นชั้นเป็น “สินค้าพรีเมียม” โดยทำไปแล้วหลาย 10 รายการ และจะทำต่อเนื่อง
         
นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์
         
ปกติ ช่วงที่ยังไม่เจอโควิด-19 จะเน้นทางออฟไลน์เป็นส่วนใหญ่ ออนไลน์เสริม แต่พอเจอโควิด-19 ก็มารุกช่องทางออนไลน์รัว ๆ
         
ใครอยากชม อยากซื้อ ลองแวะไปดูได้ที่เพจ GI Thailand
         
สำหรับเป้าหมายการขับเคลื่อน “สินค้า GI” นายวุฒิไกรสรุปว่า ต้องการสร้างการรับรู้สินค้า GI ไทย ว่า เป็นสินค้าชุมชนที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เป็นสินค้าหนึ่งเดียว ไม่มีที่อื่น

สุดท้ายที่อยากฝาก อยากให้ผู้บริโภค “ช่วยกันซื้อ ช่วยกันใช้” เพื่อช่วยสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น
         
นึกถึงสินค้าชุมชน อย่าลืมนึกถึง “สินค้า GI
 
ซีเอ็นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad