PwC เตือน "แรนซัมแวร์" โจมตีพุ่ง!! แนะธุรกิจไทยคุมเสี่ยงจาก "บุคคลภายนอก" - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

PwC เตือน "แรนซัมแวร์" โจมตีพุ่ง!! แนะธุรกิจไทยคุมเสี่ยงจาก "บุคคลภายนอก"

PwC เตือน "แรนซัมแวร์" โจมตีพุ่ง!! แนะธุรกิจไทยคุมเสี่ยงจาก "บุคคลภายนอก"

 PwC ประเทศไทย เผยภัยการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ หรือ “แรนซัมแวร์” มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของไทย แนะองค์กรต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอก

PwC ประเทศไทย เผยภัยการโจมตีทางไซเบอร์ ด้วย ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ หรือ “แรนซัมแวร์” มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของไทย แนะองค์กรต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอก อีกทั้งให้ความสำคัญกับสุขลักษณะที่ดีต่อความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือภัยคุกคามและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า การโจมตีทางไซเบอร์ ด้วยโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาให้เรียกค่าไถ่ข้อมูล โดยขโมยข้อมูลด้วยการเข้ารหัส หรือล็อกไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงหรือเปิดไฟล์ได้และเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าไถ่ (Ransomware) จะเป็นภัยไซเบอร์ที่พบมากที่สุดในปี 2565

“การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์จะกลายมาเป็นภัยไซเบอร์ที่มีแนวโน้มการเกิดมากที่สุดในระยะข้างหน้า โดยเราจะเห็นว่า แรนซัมแวร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มสถาบันการเงินและโรงพยาบาล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ภัยไซเบอร์ที่พบมากจะเป็นมัลแวร์ประเภทไวรัส โทรจัน และโปรแกรมอื่น ๆ ที่ใช้ในการโจมตีและเข้าถึงข่อมูลที่มีความอ่อนไหว” วิไลพร กล่าว

 ทั้งนี้ ความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่สาม (Third-party cyber risks) กลายเป็นประเด็นความกังวลหลักที่มีการพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้ เนื่องจากผู้บริหารส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการบริหารความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และเครือข่ายซัพพลายเออร์และคู่ค้าที่มีความสลับซับซ้อน ทำให้ยากต่อการควบคุมและป้องกันข้อมูลไม่ให้เกิดการรั่วไหล 

“ความเสี่ยงของการละเมิดข้อมูลผ่านบุคคลที่สาม กำลังเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดว่าจะจัดการกันอย่างไร เพราะบุคคลที่สามมีตั้งแต่ คู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ลูกจ้างที่บริษัทหรือหน่วยงานจ้างภายนอก ผู้รับเหมา ผู้ให้บริการ รวมไปจนถึงบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ใน Ecosystem ที่ต้องทำงานและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งต่อให้องค์กรมีการบริหารจัดการความปลอดภัยของระบบงานเป็นอย่างดีแล้ว แต่จากหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถควบคุมหรือดูแล Third party ได้อย่างทั่วถึง” 

แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับรายงาน 2022 Global Digital Trust Insights Survey ของ PwC ซึ่งทำการศึกษาถึงการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านดิจิทัลของผู้บริหารทั่วโลกกว่า 3,600 รายพบว่า 60% ของผู้ถูกสำรวจ ยังขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลผ่านบุคคลที่สาม ในขณะที่ 20% มีความเข้าใจเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลยในเรื่องความเสี่ยงทุกประเภท  

วิไลพร ยังกล่าวถึง กรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตภายในประเทศว่า

“แม้ภัยดังกล่าวจะเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน หรือดักจับได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากระบบนิเวศทางธุรกิจมีการเชื่อมต่อมากขึ้น และมีการเข้าสู่ระบบโดยใช้การยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล และอื่น ๆ ทำให้การวิเคราะห์หาสาเหตุ และการจัดการให้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีของข้อมูลทำได้ยาก ซึ่งเหตุการณ์นี้จะสร้างให้เกิดความตระหนักที่มากขึ้นทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและเจ้าของบัญชี” 

นอกเหนือจากการจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดจากบุคคลภายนอกแล้ว การบริหารจัดการความปลอดภัยอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ๆ การจัดการปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ และการขับเคลื่อนธุรกิจให้ทันกับโลกยุคดิจิทัลโดยให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยควบคู่ไปกับความเร็วของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ทันคู่แข่ง จะกลายเป็นความท้าทาย 3 อันดับแรกของการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านดิจิทัลของไทย 

หวั่นภัยไซเบอร์สูงขึ้นในปี 65

ทั้งนี้ รายงานของ PwC ระบุว่า 60% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจคาดว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 ขณะที่ 56% ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่า องค์กรของพวกเขาคาดว่าจะมีการละเมิดผ่านซัพพลายเชนซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี มีผู้บริหารเพียง 34% เท่านั้น ที่มีการประเมินความเสี่ยงขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

ในทำนองเดียวกัน 58% ของผู้ถูกสำรวจคาดว่า การโจมตีบริการคลาวด์จะเพิ่มขึ้น แต่มีผู้บริหารเพียง 37% เท่านั้นที่มีความเข้าใจในความเสี่ยงของระบบคลาวด์

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าว ยังได้แนะนำหลักการ 4Ps ที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตระหนักถึงศักยภาพทางไซเบอร์ขององค์กรได้อย่างเต็มที่ ดังต่อไปนี้

1.    หลักการ (Principle) ซีอีโอต้องสามารถอธิบายหลักการพื้นฐานในการสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้อย่างชัดเจน 

2.    บุคลากร (People) องค์กรต้องจ้างผู้นำที่มีเหมาะสม และให้ผู้บริหารระดับสูงด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศได้ทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายธุรกิจขององค์กร 

3.    การจัดลำดับความสำคัญ (Prioritisation) องค์กรต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกในการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะความเสี่ยงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

4.    การรับรู้ (Perception) เมื่อองค์กรไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องหาจุดบอดระหว่างความสัมพันธ์และห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเพื่อสร้างความปลอดภัยของข้อมูลตั้งแต่เนิ่น ๆ

องค์กรต้องลงทุนให้ถูกจุด

“วันนี้องค์กรมีความตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่ยังลังเลในเรื่องของการลงทุน และไม่ทราบว่าจะลงทุนอย่างไรไม่ให้ Underinvest หรือ Overinvest ผู้บริหารหลายรายประสบปัญหากับการวิเคราะห์ตัวเลขที่เหมาะสมกับขนาดและสภาพของธุรกิจ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องของการนำคลาวด์มาใช้ การเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน API การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจากบุคคลภายนอก ไปจนถึงการยกระดับทักษะด้านไซเบอร์ให้กับบุคลากร” วิไลพร กล่าว

PWC ทิ้งท้ายว่า องค์กรไทยควรทำการศึกษาตัวธุรกิจและบริเวณที่อาจจะถูกคุกคาม (Threat landscape) รวมทั้งประเมินความเสี่ยงเชิงลึกผ่านการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative analysis) เพื่อวัดระดับความเหมาะสมสำหรับการลงทุน และให้ความสำคัญกับการมีสุขลักษณะที่ดีต่อความปลอดภัยไซเบอร์ (Security hygiene) ซึ่งแม้จะเป็นพื้นฐานด้านความปลอดภัย แต่ยังมีการละเลยกันอยู่ในปัจจุบัน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad