“พาณิชย์”คลอด 5 ยุทธศาสตร์ อัด 159 กิจกรรม ขับเคลื่อนส่งออกไทยปี 65 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”คลอด 5 ยุทธศาสตร์ อัด 159 กิจกรรม ขับเคลื่อนส่งออกไทยปี 65

img

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดทำแผนผลักดันการส่งออกปี 65 เน้นทำตลาดแบบผสม ผสาน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ไฮบริด และฟื้นการจัดคณะผู้แทนไทยออกขายสินค้า สรุปรวม 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดำเนินการผ่าน 159 กิจกรรม ชูผลักดันส่งออกสินค้า BCG รักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า ดันขายผ่านแพลตฟอร์ม พัฒนาผู้ประกอบการ และนำดิจิทัลให้บริการ พร้อมมอบทูตพาณิชย์ประเมินตลาด ก่อนนำตัวเลขทำเป้าปี 65 คาดยังเติบโตได้ดี
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การผลักดันการส่งออกสินค้าไทยในปี 2565 เสร็จแล้ว มีกิจกรรมที่จะดำเนินการทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 159 กิจกรรม ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งจะเน้นการทำตลาดแบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ไฮบริด และจะเร่งฟื้นการจัดคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐนำภาคเอกชนเดินทางไปพบคู่ค้าในต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาด กระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการเมกะเทรนด์ของโลก การมุ่งสู่ดิจิทัล และเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานร่วมกับเอกชนผ่าน กรอ.พาณิชย์ ทั้งการแก้ไขปัญหาอุปสรรคส่งออกและการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก  
         
สำหรับยุทธศาสตร์แรก จะเน้นการผลักดันการส่งออกสินค้า BCG หรือ Bio Circular Green Economy เพราะการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก กรมฯ จะให้ความสำคัญกับการผลักดันให้มีการผลิต และสนับสนุนการส่งออกสินค้าและบริการที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยกลุ่มสินค้าที่จะผลักดัน เช่น อาหารแห่งอนาคต ได้แก่ อาหารฟังก์ชันเพื่อสุขภาพ อาหารนวัตกรรมใหม่ อาหารทางการแพทย์ และอาหารออร์แกนิก รวมถึงสินค้าฮาลาล ที่ไม่ใช่แค่อาหาร จะรวมถึงแฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องสำอาง และสินค้าไลฟ์สไตล์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม อาหารและสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และบริการมูลค่าสูง เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์
         
ยุทธศาสตร์ที่ 2 จะเน้นการรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่าที่สูญเสีย และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการเจาะตลาดเมืองรอง โดยตลาดเดิม เช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะเน้นการรักษาส่วนแบ่งตลาด ตลาดใหม่ มีเป้าหมายเจาะในยุโรป 14 ประเทศ (เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย ฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ ฮังการี และอิตาลี) เอเชียและตะวันออกกลาง 6 ประเทศ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) และภูมิภาคอเมริกา 2 ประเทศ (แคนาดา และชิลี) ตลาดเก่า จะมุ่งฟื้นฟู เช่น อิรัก ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน และแอฟริกาเหนือ  
         
ยุทธศาสตร์ที่ 3 จะส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก เช่น thaitrade.com การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (OBM) และเพิ่มพันธมิตรแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของต่างประเทศ เพื่อผลักดันสินค้าไทยขึ้นขายบนแพลต์ฟอร์มและเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศได้โดยตรง
         
ยุทธศาสตร์ที่ 4 จะเดินหน้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เน้นการ upskill reskill และการสร้าง new skill ให้กับผู้ประกอบการทุกระดับความพร้อม ในทุกภูมิภาค โดยพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน จนออกสู่ตลาดต่างประเทศได้

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศของกรมฯ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการของไทย

นายภูสิตกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2565 กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการขอให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ จำนวน 58 แห่งทั่วโลก ทำการประเมินตลาด และส่งข้อมูลกลับมา และยังได้หารือกับภาคเอกชนในเวที กรอ.พาณิชย์ และรอข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เพื่อมาวิเคราะห์และประเมินแนวโน้มการส่งออก ก่อนเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคาะเป้า ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะยังขยายตัวได้ดี แต่คงไม่เห็นตัวเลขที่บางเดือนขยายตัวแบบ 30-40% เหมือนปี 2564  

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย คือ ค่าเงินบาท ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้จะมีผลดีต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน สงครามการค้าที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับหลายประเทศ ปัญหาการขาดแคลนชิป วิกฤตพลังงานในจีน และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยจะต้องเตรียมรับมือ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขณะนี้พบว่าในกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มอัตราการติดเชื้อสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องระวัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad