ผลไม้ไทยบุกตลาดโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ผลไม้ไทยบุกตลาดโลก

img

ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีก่อน ช่วงที่ไทยเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน และต่อมาทำ FTA อาเซียน-จีน
         
ตอนนั้น มีการลดภาษีนำร่อง และหนึ่งในสินค้าที่จะลดภาษี ก็คือ “ผลไม้
         
การลดภาษีช่วงนั้น มีเสียงคัดค้านมากมาย ว่า “ผลไม้จากจีน” จะทะลักเข้าไทย ทำให้ “ผลไม้ไทย” ขายไม่ออก จะถูกผลไม้จีนตีตลาด เกษตรกรจะได้รับความเดือดร้อน  
         
แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หลังจากทำ FTA กับอาเซียน มาจีน และทำ FTA กับคู่เจรจาอื่น ๆ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
         
ปรากฏว่า ผลไม้ไทย ไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่เคยมีการประเมินไว้ แต่กลับกลายเป็นว่า “ผลจากการลดภาษี” ทำให้ผลไม้ไทย “เปิดตลาดได้มากขึ้น
         
ไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้ “อันดับที่ 7 ของโลก

ผลไม้เมืองร้อน ได้แก่ “ทุเรียนสด มังคุดสด และลำไยสด” เป็นผลไม้ “ยอดนิยม” ที่ไทย “ครองแชมป์ส่งออก” เป็น “อันดับที่ 1 ของโลก” ขณะที่ไทยส่งออก “มะม่วงสด” เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
         
ปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่เป็น “ตัวช่วย” ให้ผลไม้ไทยแข่งขัน และทำตลาดได้ดี ก็คือ FTA
         
ปัจจุบัน ไทยมีความตกลง FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยคู่ FTA 12 ประเทศได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไนฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ที่ส่งออกจากไทยทุกชนิดแล้ว

อีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับผลไม้ส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากไทย ยังมีเหลือเก็บอีกไม่มาก

ไม่เพียงแค่นั้น ประเทศที่ยังไม่ลดภาษีนำเข้าผลไม้บางชนิดให้ไทย รวมถึงผลไม้แปรรูป จะลดภาษีเพิ่มเติมให้ไทยในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

อย่าง “เกาหลีใต้” จะยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากับ “ทุเรียนสด” และ “มังคุดสด

จีน” จะยกเลิกการเก็บภาษี “น้ำสัปปะรด” และ “น้ำมะพร้าว” เป็นต้น

โดยไทยจะใช้ประโยชน์ได้ทันที เมื่อความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่า จะบังคับใช้ 1 ม.ค.2565

ทั้งนี้ หากดูสถิติส่งออกในช่วง 9 เดือน ของปี 2564 (ม.ค.–ก.ย.) พบว่า ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งไปทั่วโลก มูลค่ารวม 5,164.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52%

ส่งออกไปประเทศที่ไทยมี FTA มีสัดส่วนสูงถึง 97% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด

ประเทศที่ส่งออกผลไม้ขยายตัว เช่น จีน เพิ่ม 81% มาเลเซีย เพิ่ม 129% อินโดนีเซียเพิ่ม 106% สิงคโปร์ เพิ่ม 60% เกาหลีใต้ เพิ่ม 41% และญี่ปุ่น เพิ่ม 9%

ผลไม้ไทยที่ส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ทุเรียนสด เพิ่ม 67% มะม่วงสด เพิ่ม 53% ลำไยสด เพิ่ม 54% เงาะสด เพิ่ม 33% และมังคุดสด เพิ่ม 15% เป็นต้น
         
FTA มีส่วนช่วยให้ผลไม้ไทยแข่งขันได้ดีขึ้นก็จริง แต่ “แรงขับเคลื่อน” จาก “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะเป็น “ตัวจักร” สำคัญ ที่ช่วยในการ “รุก” และ “ขยาย” ตลาดให้กับผลไม้ไทย
         
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินหน้า “หาตลาด” ให้ผลไม้อย่างต่อเนื่อง และมีแผนจะทำต่อในปี 2565
         
มีกิจกรรมที่จัดเพื่อขายผลไม้ ทั้งการจัดเวทีเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ การจัดงานแสดงสินค้ากระตุ้นการบริโภคผลไม้ อย่างงาน THAIFEX-ANUGA Asia การจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าและในตลาดสำคัญในต่างประเทศ การจัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Months ในประเทศต่าง ๆ และการขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก เช่น Rakuten และ Yahoo ในญี่ปุ่น Coupang , SSG , Naver , Interpark , Gmarket และ 11st (11Street) ในเกาหลีใต้ bigbasket ของอินเดีย และ Tmall ของจีน เป็นต้น       

แต่ทั้งหมด ทั้งมวล จะไม่พูดถึงคนกำกับนโยบายอย่าง “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ไม่ได้
         
ตอนนี้ นายจุรินทร์ได้ลงพื้นที่ไปภาคตะวันออก ไปประชุมจัดทำแผนและมาตรการดูแลผลไม้ปี 2565 เสร็จแล้ว
         
เบ็ดเสร็จ มีทั้งหมด 17 มาตรการ สรุปให้แบบสั้น ๆ ไม่ต้องอ่านกันยาว ๆ ก็ 1.เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP 2.ช่วยค่ากระจายผลไม้กิโลกรัมละ 3 บาท 3.ช่วยสภาพคล่องผู้ส่งออก 4.ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5.ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ 6.สนับสนุนกล่องให้เกษตรกร 7.ใช้รถเร่ โมบาย รับซื้อผลไม้ไปขาย 8.นำผลไม้ขายในห้างท้องถิ่น ในปั๊ม 9.ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ 10.จัดเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ 11.จัดงานแสดงสินค้า THAIFEX-ANUGA Asia 12.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย 5 ภาษา 13.อบรมเกษตรกรค้าออนไลน์ 14.ช่วยเรื่องเคลื่อนย้ายแรงงาน 15.ประสานทหารช่วยเก็บผลไม้ 16.ทีมเซลส์แมนช่วยระบายผลไม้ 17.บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด
         
ส่วนผลไม้ภาคใต้ จะใช้ 17 มาตรการ บวก 1 โดยเพิ่มมาตรการเร่งรัดการเปิดด่าน เพื่อเป็นช่องทางระบายผลไม้
         
จากนโยบายหลัก มาตรการสนับสนุน มาตรการส่งเสริมการส่งออก และแรงส่งจาก FTA ล้วนแต่เป็น “ปัจจัย” สำคัญ ที่ขาดอย่างหนึ่ง อย่างใดไปไม่ได้
         
วันนี้ ทุกปัจจัยได้ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน
         
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็เร่งกระตุ้นให้ผู้ส่งออกใช้ FTA ลดภาษี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
         
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ก็เร่งขับเคลื่อนมาตรการด้านตลาด เพื่อเร่งรัดการส่งออก
         
ขณะที่ “นายจุรินทร์” ก็ลงมากำกับการแสดงอย่างใกล้ชิด
         
ทำให้วันนี้ “ผลไม้ไทย” บุกตลาดโลก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ทำสำเร็จแล้ว
         
ก็ขอช่วยลุ้น ให้ “สำเร็จ” ยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป
 
ซีเอ็นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad