“จุรินทร์”ถกสวิส เห็นพ้องเร่งเจรจา FTA ไทย-EFTA ลุ้นเป็นฉบับที่ 15 ของประเทศ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“จุรินทร์”ถกสวิส เห็นพ้องเร่งเจรจา FTA ไทย-EFTA ลุ้นเป็นฉบับที่ 15 ของประเทศ

img

“จุรินทร์”หารือประธานวุฒิสภาสวิส เห็นพ้องผลักดันเจรจา FTA ไทย-EFTA ตั้งเป้าปีนี้เจรจาในระดับเจ้าหน้าที่จบ ไตรมาสแรกปีหน้า เริ่มเจรจาในแต่ละหัวข้อที่จะบรรจุใน FTA และให้จบเร็วที่สุด มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า และโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทย ระบุหากสำเร็จ จะเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย ต่อจาก RCEP ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนาย Alex Kuprecht ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส ขอเข้าเยี่ยมคารวะและหารือ ที่ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทําเนียบรัฐบาล ว่า ท่านประธานวุฒิสภาของสวิตเซอร์แลนด์ได้นำคณะเข้าหารือในเรื่องของความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศและความสัมพันธ์ทางการค้า ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติของสวิตเซอร์แลนด์ กับฝ่ายบริหารของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย โดยประเด็นสำคัญที่เห็นตรงกัน คือ ต้องการผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้จะเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ให้จบสิ้นในประเด็นสำคัญ และไตรมาสแรกของปีหน้า จะเริ่มการเจรจาในแต่ละหัวข้อที่จะบรรจุใน FTA ของไทยกับ EFTA ต่อไป ตั้งเป้าจะเจรจาให้จบเร็วที่สุด เพราะถ้า FTA ไทยกับ EFTA เกิดขึ้นได้ จะมีประโยชน์ในเรื่องมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย
         
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับที่ 13 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม ปี 2563  ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าการค้าลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบประมาณ 42% แต่เชื่อว่าถ้า FTA ไทย-EFTA เกิดขึ้น มูลค่าการค้าระหว่างกันจะเป็นบวกต่อไป และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการส่งออก ไทยมีสินค้าที่สามารถทำตลาดในกลุ่มประเทศ EFTA รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ได้ เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวคุณภาพสูง อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
         
“หาก FTA ไทย EFTA ประสบความสำเร็จ จะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 15 ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 13 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 14 เกิดขึ้น คือ RCEP ซึ่งไทยได้ยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่จาการ์ตาแล้ว และกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันไม่ต่ำกว่า 6 ประเทศ ซึ่งครบแล้ว และนอกกลุ่มอาเซียนมี 5 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว 4 ประเทศ โดบเป้าหมาย RCEP คือ ต้นปีหน้า จะสามารถบังคับใช้ได้ ซึ่งจะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และหาก FTA ไทย-EFTA ประสบความสำเร็จจะเป็นฉบับที่ 15 ต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad