กรมเจรจาฯ เผย RCEP เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.65 แน่นอน หลังให้สัตยาบันครบตามเป้า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯ เผย RCEP เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.65 แน่นอน หลังให้สัตยาบันครบตามเป้า

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งข่าวดี ความตกลง RCEP จะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.65 แน่นอนแล้ว หลังประเทศสมาชิกให้สัตยาบันครบตามเงื่อนไขที่กำหนด ยันไทยพร้อมเต็มที่ หลังเตรียมออกประกาศอัตราภาษี ออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งศูนย์ RCEP Center และติดตามภาวะการค้า ย้ำสินค้า 29,891 รายการ ภาษี 0% ทันที แนะผู้ประกอบการวางแผนใช้ประโยชน์
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ล่าสุดประเทศสมาชิก RCEP ได้ให้สัตยาบันครบตามเงื่อนไขที่ความตกลงกำหนดไว้ ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ทำให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค.2565 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ สมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้ว ความตกลงจะมีผลใช้บังคับ ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน คาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ในเร็ว ๆ นี้
         
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้กรมฯ เตรียมการรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยงข้อง ทั้งการประสานงานกับกรมศุลกากร เรื่องการออกประกาศอัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP เพื่อให้พร้อมใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2565 การประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกไทยใช้ประกอบการส่งสินค้าไปประเทศสมาชิก RCEP เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 การจัดตั้งศูนย์ RCEP Center เพื่อให้ข้อมูลความตกลง RCEP เช่น อัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยและสมาชิก RCEP ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th
         
ขณะเดียวกัน ได้เตรียมระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมแผนรับมือหรือใช้มาตรการปกป้องทางการค้าได้ทันท่วงที การจัดสัมมนาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก RCEP และจัดทำ E-Book ความตกลง RCEP ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ      
นางอรมนกล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก โดยสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น
         
“ความตกลงฉบับนี้ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งก่อนที่ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่” นางอรมนกล่าว

สำหรับความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 33.6% ของ GDP โลก และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad