10 นวัตกรรมรักษ์โลก พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต แห่งปี 2021 ตามแนวทาง ESG จาก SCG - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564

10 นวัตกรรมรักษ์โลก พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต แห่งปี 2021 ตามแนวทาง ESG จาก SCG

 10 นวัตกรรมรักษ์โลก พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต แห่งปี 2021

ตามแนวทาง ESG จาก SCG

ปีนี้การระบาดของโควิด19 ยังเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สร้างทั้งผลกระทบมหาศาลให้กับผู้คนทั้งโลก อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่แค่ “วิกฤต” แต่ยังเป็น “โอกาส” สำหรับหลายคน รวมถึงโอกาสสำหรับการทลายกรอบคิดในการพัฒนา “นวัตกรรม” ที่ต้อง “รวดเร็วและทันต่อความต้องการใช้” โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ “แก้ปัญหาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต” ของผู้คน และยัง “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นับว่าเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น จากความตระหนักรู้ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม จนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมแก้วิกฤตตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Government) ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

“นวัตกรรมป้องกันโควิด19” คิดและพัฒนาแข่งกับเวลา ทันใช้กับสถานการณ์

ในยามที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตโควิด19 “SCG” ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ 1.) “นวัตกรรมป้องกันโควิด19” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์รับมือโควิด19 ในสถานการณ์ที่สังคมต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเตียงจากจำนวนผู้ป่วยโควิด19 ที่เพิ่มขึ้น “เตียงสนามกระดาษ SCGP” ที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% นับเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถขนส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 19 ได้อย่างทันท่วงที น้ำหนักเบา ประหยัดพื้นที่ขนส่งและการจัดเก็บ ประกอบง่าย และรับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม

“ห้องไอซียูโมดูลาร์” สำหรับแยกผู้ป่วยโควิด19 ออกจากผู้ป่วยทั่วไป และช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่ง SCG พัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี สร้างเสร็จรวดเร็วใน 1 สัปดาห์ หากเปรียบเทียบกับการปรับปรุงไอซียูแบบทั่วไป อาจต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน

“แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ” ช่วยแก้ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด 19 ด้วยแคปซูลที่มีขนาดกะทัดรัด เหมาะกับการบรรทุกในเครื่องบินขนาดเล็ก ใช้พลาสติก PVC ที่มีความทนทานสูง แต่น้ำหนักเบา พร้อมมีระบบควบคุมความดันลบที่ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ และอากาศภายในแคปซูลจะถูกดูดออกผ่านเครื่องกรองเชื้อที่มีประสิทธิภาพถึง 99.95%

สำหรับผู้ที่ต้องสัมผัสเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งที่อาจมีเชื้อโควิด19 เช่น ผู้ปฏิบัติงานที่โรงซักผ้าในโรงพยาบาล และบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล เป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในสถานการณ์โควิด19 2.) ถุงซักผ้าละลายน้ำ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้ไม่ต้องสัมผัสกับผ้าติดเชื้อโดยตรง เพียงนำถุงซักผ้าละลายน้ำซึ่งเป็นพลาสติกพิเศษที่ผลิตจากพอลิไวนิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ มีคุณสมบัติละลายน้ำที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียสขึ้นไป เข้าเครื่องซักผ้า ถุงซักผ้าจะสามารถละลายในน้ำได้ภายใน 2-3 นาที ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และช่วยลดขั้นตอนการซักล้าง

“อยู่สบายอย่างปลอดภัย” ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุค NOW Normal

นอกจากนี้ เพื่อทำให้ผู้คนใช้ชีวิตปลอดภัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นท่ามกลางปัญหาโรคระบาด SCG ได้พัฒนานวัตกรรม 3.) หน้ากาก Respirator “CUre AIR SURE” ที่ออกแบบและผลิตโครงสร้างหน้ากาก โดยนำความเชี่ยวชาญด้านการดีไซน์และผลิตวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์มาต่อยอด เพื่อให้ได้หน้ากากมีประสิทธิภาพ ช่วยกรองเชื้อแบคทีเรียและอนุภาคขนาดเล็กได้ถึง 99% อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแผ่นกรองได้ ช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ในขณะเดียวกัน ที่เราต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนเมือง 4.) กระเบื้องฟอกอากาศ COTTO AIR ION ที่มีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 89% โดยการปล่อยประจุไอออนลบเพื่อทำปฏิกิริยาเข้าจับฝุ่นที่ลอยในอากาศนำตกลงสู่พื้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับมวลอากาศสดชื่นตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

สำหรับ 5.) ถุง OptiBreath® บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยคงความสดของผักผลไม้ให้นานขึ้น ช่วยลดการเน่าเสีย และข้อจำกัดทางการขนส่ง ด้วยเทคโนโลยีของฟิล์มที่ช่วยควบคุมการผ่านเข้าออกของก๊าซและไอน้ำ ก็เหมาะสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่นิยมสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

นวัตกรรมสีเขียว รักษ์โลก “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก-ลดขยะ”

ในขณะเดียวกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญ แต่ทุกภาคส่วนต่างก็ตื่นตัวกับการแก้ปัญหา SCG ได้คิดค้นและพัฒนา “นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นแนวคิดตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมรักษ์โลกไปพร้อมกัน เช่น 6.) เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ SCG GREEN POLYMERTM โดยเป็นการนำพลาสติกใช้แล้วมาผ่านกระบวนการให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ High Quality PCR (High Quality Post-Consumer Recycled Resin) สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ ช่วยลดปริมาณขยะและลดการใช้ทรัพยากร

นอกจากนี้ ยังมี 7.) เมลามีนอัปไซเคิล นำเมลามีนที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตในโรงงาน หรือสินค้าเมลามีนที่ใช้งานแล้ว มาเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ที่มีส่วนผสมของเมลามีนใช้แล้ว 10-40% โดยสามารถปรับตามลักษณะพื้นผิวและลวดลายชิ้นงานที่ต้องการ สร้างสรรค์เป็นสินค้าอัปไซเคิลที่มีดีไซน์สวยงาม ตอบโจทย์ และเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มสินค้าใหม่ของวัสดุเมลามีน ได้แก่ กระถางต้นไม้ Plant me และ อ่างล้างมือ BASINITY เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับนวัตกรรมการก่อสร้างเพื่อการอยู่อาศัย SCG ได้พัฒนา 8.) ปูนงานโครงสร้าง SCG สูตรไฮบริด ปูนซีเมนต์คุณภาพสูง แข็งแรง ทนทาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานทดแทน โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ สามารถทดแทนถ่านหินได้ 18% ของความร้อน รวมถึงการนำลมร้อนที่ได้จากกระบวนการผลิตมาปั่นไฟฟ้า หรือ Waste Heat Generator (WHG) ลดการใช้พลังงานถึง 38% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดีต่อเรา ดีต่อโลกอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับ 9.) CPAC 3D Printing Solution เพื่อออกแบบและควบคุมกระบวนการก่อสร้างด้วยการใช้เครื่องจักรสำหรับพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ทำให้สามารถพิมพ์รูปโครงสร้าง และอาคารตามรูปแบบที่ต้องการ อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้คอนกรีตตกแต่งอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ และฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังนวัตกรรม นวัตกรรมนี้ช่วยลดระยะเวลาทำงาน และลดเศษวัสดุในพื้นที่งานก่อสร้าง

นอกจากนั้น ภายในกระบวนการผลิต SCG ได้นำ 10.) AI Supervisory for Energy Analytics เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ทำให้สามารถคาดการณ์ความผิดปกติได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ช่วยลดความเสี่ยง และสามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต โดยพบว่า ระบบสามารถลดพลังงาน ได้ถึง 19,430 กิกะจูลต่อปี หรือเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 806 ตันคาร์บอนต่อปี

เมกะเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความต้องการอยู่อย่างปลอดภัย เป็น “โอกาส” ที่ทำให้เราได้ “ร่วมกันรับผิดชอบต่อโลกใบนี้” ซึ่งภาคธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม ตลอดจนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Government) เพื่อส่งต่อโลกที่ดีขึ้นให้กับลูกหลานในอนาคตต่อไป

ผู้สนใจสามารถติดตามนวัตกรรมและข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://www.scg.com/esg/ https://scgnewschannel.com /Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad