ผัก-ผลไม้ไทยครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในจีน “มัน”แชมป์ผัก “ทุเรียน”แชมป์ผลไม้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ผัก-ผลไม้ไทยครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในจีน “มัน”แชมป์ผัก “ทุเรียน”แชมป์ผลไม้

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผักและผลไม้ไทย ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนสูงถึง 45% ส่วนยอดส่งออก 11 เดือนปี 64 มีมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 81% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ระบุ “มันสำปะหลัง” นำโด่งส่งออกผัก “ทุเรียน” อันดับหนึ่งส่งออกผลไม้ ชี้ FTA เป็นเครื่องมือสำคัญทำสินค้าไทยได้เปรียบ แนะผู้ส่งออกคุมเข้มคุณภาพ มาตรฐาน และปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีน 
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในตลาดจีน พบว่า ในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนมีการนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้สูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45% แคนาดา อันดับ 4 มีส่วนแบ่ง 4.14% และนิวซีแลนด์อันดับ 5 มีส่วนแบ่ง 3.75% 
         
ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ของไทยในจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถิติการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ทำได้มูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้าจากจีน มูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 105%
         
โดยในการส่งออกไปจีน เป็นการส่งออกผัก มูลค่า 1,199.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 96% โดยมันสำปะหลังส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 1,145.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 90% รองลงมา คือ พริกสดและแช่เย็น มูลค่า 36.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 157,369% และถั่วเขียวและถั่วทองแห้ง มูลค่า 6.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 131% และผลไม้ มูลค่า 4,813.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 78% โดยทุเรียนสด ส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 3,054.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 105% รองลงมา คือ มังคุดสด มูลค่า 506.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 39% และลำไยสด มูลค่า 472.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 64% ส่วนการนำเข้าจากจีน มีสินค้าผัก เช่น เห็ดแห้ง แคร์รอตสด แช่เย็น กะหล่ำปลีสด แช่เย็น และผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล องุ่นสด ลูกแพร์ และส้ม เป็นต้น
         
นางอรมนกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ผักและผลไม้ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้เป็นอันดับหนึ่ง นอกเหนือจากความนิยมในผักและผลไม้ของไทย ความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน ยังได้เครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบและขยายโอกาสทางการค้า คือ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) เพราะจีนได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าผักและผลไม้จากไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 จากเดิมเคยเก็บภาษี 10-30% ส่งผลให้การส่งออกเติบโตอย่างมาก โดยก่อนที่จะมี FTA ปี 2545 ไทยส่งออกไปจีนเพียง 136.53 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 3,614.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2,547% เมื่อเทียบกับปี 2545 
         
สำหรับข้อแนะนำในการส่งออก จะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยผักและผลไม้ เป็นสินค้าอาหาร จึงมีข้อกำหนดในการนำเข้าที่เข้มงวด เช่น ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับทุกครั้ง ไม่มียาฆ่าแมลงและสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานของจีน และบรรจุด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสม และผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ มะม่วง ที่ส่งออกไปจีนจะต้องมาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) จากกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ล่าสุดจีนได้ออกระเบียบ Decree 248 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารจากต่างประเทศใน 18 กลุ่มสินค้า รวมถึงผลไม้แห้ง ผักสดและผักอบแห้ง ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนส่งไปจีน ส่วนผู้ผลิตและส่งออกที่ไม่อยู่ใน 18 กลุ่มสินค้า สามารถขึ้นทะเบียนโดยตรงกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ผ่านทางเว็บไซต์ www.singlewindow.cn ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรและผู้ประกอบไทยควรศึกษารายละเอียดให้ความสำคัญกับขั้นตอน กระบวนการผลิตสินค้า การตรวจรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และเตรียมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของมาตรการใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การส่งออกสินค้าและการค้าของไทยไม่สะดุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad