มช. จับมือภาครัฐ เดินหน้าพัฒนาคลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมืองเชียงใหม่ เป็นดั่ง “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564

มช. จับมือภาครัฐ เดินหน้าพัฒนาคลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมืองเชียงใหม่ เป็นดั่ง “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม”


มช. จับมือภาครัฐ เดินหน้าพัฒนาคลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมืองเชียงใหม่

เป็นดั่ง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม


          มช. จับมือภาครัฐ เร่งเดินหน้าฟื้นฟูคลองแม่ข่า คลองดั้งเดิมและเป็นคลองหลักของตัวเมืองเชียงใหม่ ตามแผนแม่บทการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายประชาชน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ คือ ปริมาณน้ำดีที่ไหลในคลองมากกว่า 1 ลบ.ม./วินาที  มีคุณภาพน้ำดี Water Quality Index (WQI)มากกว่า 30  สภาพแวดล้อมสองฝั่งคลองได้รับการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม และประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาให้ฟื้นคืนเป็นสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตล้านนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ภายใต้ คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์  นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ชูโชค อายุพงศ์ ประธานคณะทำงานศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า  “คลองแม่ข่า” ในอดีตเป็นคลองที่ใช้ในการเกษตร การระบายน้ำ และสันทนาการ มีต้นกำเนิดมาจากแถบอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย ไหลผ่านเมืองมาตอนบนแล้วลงมาตอนล่าง รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร  ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คลองแม่ข่ามีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากมีการบุกรุก ครอบครองพื้นที่ข้างคลอง ประกอบกับน้ำเสียต่างๆ ของพื้นที่ชุมชน มีการปล่อยน้ำเสียลงคลอง เปรียบเสมือนคลองที่เกือบตายแล้ว คือ น้ำสกปรก ดำ และคุณภาพน้ำต่ำที่สุด จนเมื่อ       ปี พ.ศ. 2555 ทางจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ผลักดันให้เกิดพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่า ตามแผนแม่บทคลองแม่ข่าฉบับที่1-2 และแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคลอง




แม่ข่าแบบมุ่งเป้าไปสู่ความสำเร็จโดยเร็ว โดยมี 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้ไหลสู่คลองอย่างเพียงพอในทุกช่วงฤดูกาล เพื่อให้น้ำที่คุณภาพดีไหลในคลองตลอดเวลา เป็นการรักษานิเวศน์ทางน้ำ 2.การดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองให้สวยงามโดดเด่นโดยเฉพาะในเขตเมือง จัดหาจุดสำคัญที่ให้เป็น Land Markของแต่ละพื้นที่ 3.ทำการสำรวจและออกแบบรายละเอียดระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง       4.การจัดหาพื้นที่และที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่อาศัยหรือบุกรุกพื้นที่ในเขตคลองที่จะถูกโยกย้ายออกไป โดยผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างการมีจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคลองแม่ข่าของประชาชน เยาวชน ชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน

 

          จากการทุ่มเทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันน้ำในลำคลองมีความใสสะอาดมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา การลุกล้ำคลองได้รับการแก้ไขเกือบหมด ชุมชนมีความสะอาดตา น่าอยู่ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีภูมิทัศน์ริมคลองที่สวยงาม สามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้อย่างดี ซึ่งอนาคตหากคลองแม่ข่าพลิกฟื้นอย่างเบ็ดเสร็จแล้วก็สามารถพร้อมรับแขกบ้านแขกเมืองได้

และด้วยพลังจากทุกส่วนงานที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนริมคลองแม่ข่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาทางด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad