ก.เกษตร - ไททา พร้อมพันธมิตร ผุดเวทีเสวนา “ชาวนาลดโลกร้อน” ดันไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

ก.เกษตร - ไททา พร้อมพันธมิตร ผุดเวทีเสวนา “ชาวนาลดโลกร้อน” ดันไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

 

ก.เกษตร - ไททา พร้อมพันธมิตร ผุดเวทีเสวนา “ชาวนาลดโลกร้อน”

ดันไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กรมการข้าวและพันธมิตร จัดเสวนา “ชาวนาลดโลกร้อน” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้นำชาวนา เป้าหมายเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พร้อมฟังทิศทางและนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนวัตกรรมการจัดการแปลงข้าวที่มีความแม่นยำ รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยมีผู้นำชาวนาเข้าร่วมจากแหล่งปลูกข้าว 18 จังหวัด จำนวน 30 คน พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 - 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก ประชากรในภาคเกษตรมีมากถึง25ล้านคน คิดเป็นร้อยละ40ของประชากรทั้งหมด นับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งยังเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับที่11ในปี2563และอันดับที่13ในปี2564ซึ่งสอดคล้องกับภาครัฐบาลไทยที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยอยู่ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

ประเทศไทยยังคงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาดโลกในฐานะผู้ส่งออกข้าวที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว และรับมือกับปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปัญหาฝนแล้ง และน้ำท่วม ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร ประกอบด้วย4ประเด็นหลัก ได้แก่1.การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ2.การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ3.การมีส่วนร่วมของภาคเกษตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และ4.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีโครงการความร่วมมือกับองค์การนานาประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งผลักดันเกษตรไทยสู่ 3สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูงได้ตามที่คาดหวังในอนาคต

ด้านนางนงนุช ยกย่องสกุล รักษาการผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวต่อว่า ข้าวถือเป็นอาหารหลักของประชากรมากกว่าครึ่งโลก และเป็นส่วนสำคัญของอาหารในแถบเอเชียที่เป็นแหล่งพลังงานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่การปลูกข้าวและการทำการเกษตรมีกระบวนการและขั้นตอนที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการทำนาข้าวที่มีการขังน้ำจะมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนมากถึงร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซจากฝีมือมนุษย์ทั่วโลก เทียบเท่ากับร้อยละ 1.5 ของผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

จากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลกระทบในเรื่องของรายได้ที่ไม่มั่นคง นำไปสู่ผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของชาวนา สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยได้ตระหนักถึงภัยเหล่านี้ จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอแนวคิดนโยบายของรัฐบาล รับฟังความเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้นำชาวนา ตลอดจนสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างชุมชนในเรื่องของการปลูกข้าว และการทำเกษตรเพื่อลดโลกร้อน

ขณะนี้สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ภาคี 197 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ร่วมกันทำสัตยาบันรับรองความตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งประเทศไทยจัดเป็นประเทศอันดับที่ 4 ของโลกในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการเพาะปลูกข้าว รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 - 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำ ชาญฉลาด และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่กระบวนการพัฒนาการปลูกข้าวที่สามารถมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้สูงสุด นางนงนุช กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้มีหัวข้อการบรรยายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้พร้อมสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในงานดังนี้

- ทิศทางและนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรของไทย เรียนรู้เป้าหมายมาตรการการขับเคลื่อน การรับมือ พร้อมแนวทางการดำเนินงานและประโยชน์ที่จะได้รับจากการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก โดย นายธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- การปลูกข้าวเพื่อลดโลกร้อน กรมการข้าวนำเสนอการปลูกข้าวลดโลกร้อน 4 วิธี ได้แก่ การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการธาตุอาหารในนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว โดย นายเฉลิมชาติ ฤาไชยคาม ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี และนางนิตยา รื่นสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว

- ภาวะโลกร้อนกับการทำนา หลักการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถนำมาแก้ปัญหาโลกร้อนในนาข้าว โดย ดร. อัมรินทร์ ดรัณภพ บริษัท เอ็นพี พอยท์เอเชีย จำกัด

- การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ การประยุกต์ใช้โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับชาวนาลดโลกร้อน โดย ดร.วิชัย ลิมปิติกรานนท์ ผู้จัดการอาวุโสด้านพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

- ตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมการทำโครงการ Keep it cool และผลิตข้าวยั่งยืน (SRP) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และมีการจำหน่ายในยุโรป โดย นายอนุพล ชารีศรี บริษัท ฟู๊ดเทค โซลูชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด

- การใช้หน้ากากป้องกันสารฯ N93 ชนิดใหม่ ที่ออกแบบเพื่อใช้ป้องกันละอองสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร โดย ผศ.ดร. ไชยอนันต์ แท่งทอง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยี พอลิเมอร์ขั้นสูง MTEC

- การเกษตรแม่นยำกับการสำรวจโรคข้าว โดยใช้โมบายแอปพลิเคชั่น “บอทโรคข้าว” เพื่อวินิจฉัยโรคข้าว โดยการวิเคราะห์ภาพถ่าย ปัญญาประดิษฐ์ โดย ผศ.ดร. สุจินต์ ภัทรภูวดล คณะเกษตรวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

- ฟาร์มดีมีสุข แอพพลิเคชั่นสำหรับการจัดการแปลงข้าว บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับแบบจำลองการเจริญเติบโตพืช เพื่อคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้า โดย นางสาวหัสดาภรณ์ สิทธิ สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

- โมบายแอปพลิเคชั่น “xarvio” ตรวจวัชพืช โรค แมลง ช่วยเกษตรกรตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก เฝ้าระวังสุขภาพพืช การติดเชื้อจากศัตรูพืช โดยคุณทรงศักดิ์ บริษัทบีเอสเอฟ

- โดรนเจ้าเอี้ยง โดรนเกษตรอัจฉริยะ มุ่งเสริมประสิทธิภาพยกระดับผลผลิตด้านการเกษตร โดย คุณภานุมาศ แสนทวี บริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด

สำหรับเกษตรกร หรือบุคลผู้สนใจ การทำนาลดโลกร้อน การทำการเกษตร ข้อมูลในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ข้อมูลด้านนวัตกรรมเพื่อการทำการเกษตร และติดตามกิจกรรมเสวนาด้านการเกษตรที่น่าสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/taitacroplifethailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad