10 ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดโลกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า ผ่านเรื่องราวของผ้า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565

10 ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดโลกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า ผ่านเรื่องราวของผ้า

    10 ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดโลกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า ผ่านเรื่องราวของผ้า

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ผู้คนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ บางคนต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอดีต บรรพบุรุษ หรือรากเหง้าของตัวเอง ขณะที่คนอื่นๆ อยากรู้เกี่ยวกับประเทศซึ่งพวกเขากำลังไปเยือน หรือต้องการเพลิดเพลินกับศิลปะและวัฒนธรรม

สำหรับบางคน พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจที่เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาตนเองซึ่งจะสร้างความทรงจำตลอดชีวิต เป็นประสบการณ์ซึ่งหาที่อื่นไม่ได้ ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นพิพิธภัณฑ์ยังเป็นวิธีที่ดีในการใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนและครอบครัว

และถ้าพูดถึงพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือนที่สุด แน่นอนว่าจะต้องมี “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ

ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูวิมานเทเวศร์กับประตูวิเศษไชยศรี เป็นเวลา 10 ปีมาแล้วที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนนับตั้งแต่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทยและประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย ทั้งยังเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดแสดงงานหัตถศิลป์จากผ้าอันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่าง ๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ

ประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เริ่มต้นหน้าแรกเมื่อวันที่ 9พฤษภาคม 2555 และเนื่องในวาระที่ดำเนินการมาครบ10 ปี ในปีนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลอง

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้เข้าชมฟรี และจัดกิจกรรมนำชมนิทรรศการ โดยเจ้าหน้าที่บริการวิชาการ โดยเฉพาะในวันที่ 9พฤษภาคม เปิดรอบนำชมพิเศษโดยภัณฑารักษ์นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมออนไลน์ ทั้งเกมตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และเกมทายภาพฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

มีกิจกรรมบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวมไปถึงสิ่งที่อยากให้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำในอนาคตพร้อมลุ้นรับของรางวัลพิเศษ รวมทั้งโปรโมชั่นลดราคาสินค้าที่ผลิตโดยพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และในเดือนสิงหาคมนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ90พรรษา รวมทั้งกิจกรรมส่งท้ายนิทรรศการ ด้วยพลังแห่งรัก และการเปิดห้องกิจกรรมปรับปรุงใหม่อย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกับนิทรรศการใหม่ในช่วงปลายปีนี้”

นิทรรศการ ด้วยพลังแห่งรัก (The Power of Love)ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องจัดแสดง 1-2 ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯที่กำลังจะบอกลาไปในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี จัดแสดงฉลองพระองค์ พระกระเป๋าทรงถือ พระมาลา และพระพัชนี

ในขณะที่ ห้องจัดแสดง 3-4 จัดให้มีนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช:สายสัมพันธ์สยามและชวา (A Royal Treasure: The Javanese Batik Collection of King Chulalongkorn of Siam) นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ในการเสด็จเยือนชวาทั้ง3 ครั้ง และจัดแสดงผ้าบาติกสะสมที่มีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา ทั้งยังมีวีดิทัศน์และภาพอธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติกนิทรรศการนี้มีการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงแล้วถึง3 ครั้ง และยังเปิดให้เข้าชมจนถึงปีพ.ศ. 2566

นิทรรศการผ้าบาติกในสมเด็จพระปิยมหาราชที่เราจัดอยู่ในปัจจุบันเป็นที่พูดถึงเยอะ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ผ้าบาติกสะสมในรัชกาลที่ 5 เป็นผ้าหายาก แม้กระทั่งที่อินโดนีเซียเองก็ตามหาไม่ได้ เป็นคอลเลคชั่นที่พิเศษมาก หายากมาก สวยมาก ทั้งหมดที่พระองค์ท่านสะสมมีประมาณ 300กว่าผืน เรานำมาจัดแสดงประมาณ 100กว่าผืน นอกจากนี้เรายังมีหนังสือประกอบนิทรรศการซึ่งเป็นภาพถ่ายทั้งคอลเลคชั่นอีกด้วย”

ทุกนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นนิทรรศการหมุนเวียน “จะไม่มีนิทรรศการถาวร เพราะว่าผ้าต่าง ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการนำมาจัดแสดง เพราะฉะนั้นเราเลยจะมีการเปลี่ยนเนื้อหาของนิทรรศการไปเรื่อย ๆ เพื่อเชิญชวนให้คนกลับมาชมพิพิธภัณฑ์อีก เราเปลี่ยนนิทรรศการเกือบทุกปี บางปีอาจจะเว้นไปบ้าง แต่จะมีการหมุนเวียนวัตถุจัดแสดงภายใจนิทรรศการแทน”

ตลอด 1ทศวรรษที่ผ่านมา นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯได้การต้อนรับและประสบความสำเร็จอย่างมาก อาทิ นิทรรศการ งามสมบรมราชินีนาถ (Fit For a Queen: Her Majesty Queen Sirikit’s Creations by Balmain)ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา7รอบ 12 สิงหาคม 2559 จัดแสดงฉลองพระองค์ที่ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้ดูแลการตัดเย็บฉลองพระองค์เป็นเวลากว่า 22ปี ฉลองพระองค์ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าจากภูมิปัญญาคนไทยและส่งเสริมผ้าไทยให้ชาวโลกรู้จัก ทำให้เกิดความนิยมสวมใส่ผ้าไทยอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน

อีกหนึ่งนิทรรศการที่ตราตรึงในความทรงจำของคนจำนวนไม่น้อยคือ นิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561 เนื่องในโอกาสครบรอบ200 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา รวบรวมวัตถุซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนจากสถาบันชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่จัดเก็บในสถาบันสมิธโซเนียน รวมถึงพระราชสาส์นที่จัดเก็บในองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ จดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) และของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงให้แก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่นำมาจากหอสมุดประธานาธิบดี

“ในช่วงนั้นมีกิจกรรมมากมาย ทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้เชิญกลุ่มต่าง ๆ ทั้งนักเรียนนักศึกษามาที่พิพิธภัณฑ์เยอะมาก ตรงนั้นก็ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น นิทรรศการที่เป็นความร่วมมือกันก็จะมีวัตถุหลากหลายประเภทมาจัดแสดงจึงได้รับความนิยม ทำให้เรามีผู้เข้าชมกลุ่มใหม่ นอกเหนือจากคนที่สนใจเรื่องของผ้าหรือแฟชั่น”

งานของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ไม่ได้มีแค่การจัดนิทรรศการ ทว่ายังมีงานเบื้องหลังซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับรู้มากนัก อย่างเช่น การทำหน้าที่ของภัณฑารักษ์และงานด้านการศึกษา การจัดการและดูแลงานพิพิธภัณฑ์ เช่น การสืบค้นข้อมูล ทำการศึกษาเกี่ยวกับวัตถุ รวมถึงการสรรหาและคัดเลือกวัตถุเพื่อนำมาจัดแสดงและเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ วางรูปแบบนิทรรศการและเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อสื่อความหมายแก่ผู้เข้าชม ให้รับรู้และเข้าใจในคุณค่าของวัตถุและเรื่องราวที่นำมาจัดแสดง ทั้งนี้ยังมีส่วนในการวางแผนและจัดกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้แก่ผู้เข้าชม

รวมไปถึงงานอนุรักษ์และงานทะเบียนซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ โดยเจ้าหน้าที่อนุรักษ์และเจ้าหน้าที่ทะเบียนมีหน้าที่สงวนรักษาและจัดเก็บวัตถุในครอบครองของพิพิธภัณฑ์ โดยดูแลและจัดระบบการจัดเก็บวัตถุ ตั้งแต่การตรวจบันทึกสภาพและให้เลขทะเบียนวัตถุ ศึกษาประวัติและโครงสร้างของวัตถุร่วมกับภัณฑารักษ์ วางแผนกำหนดแนวทางในการจัดเก็บและป้องกันไม่ให้วัตถุเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ตลอดจนอนุรักษ์ซ่อมแซมวัตถุที่ได้รับความเสียหาย

และวัตถุในครอบครองของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทั้งหมดจัดเก็บรักษาไว้ในห้องคลัง โดยต้องผ่านการทำความสะอาดและกำจัดแมลงภายใต้อุณหภูมิ -20องศาเซลเซียส ให้เลขทะเบียนวัตถุ ตรวจสภาพ บันทึกภาพ และซ่อมแซมรักษาในกรณีที่มีการเสื่อมสภาพ โดยภายในห้องคลังมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้มีสภาพคงที่และเหมาะสมสำหรับการจัดเก็บวัตถุเพื่อรักษาสภาพ สำหรับวัตถุประเภทผ้า อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมอยู่ระหว่างร้อยละ 50-60

“การเก็บดูแลรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในห้องคลังมีการเก็บรักษาและและควบคุมความชื้น เพราะถ้ามีความชื้นมากเกินไปก็จะเกิดรา ถ้าแห้งเกินไปก็จะกรอบ ต้องควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เรื่องของแสง ในห้องคลังนี้จะปิดไฟตลอดเวลา ถ้าไม่ได้เข้าไปทำงาน วัตถุทุกชิ้นจะอยู่ในตู้จัดเก็บ ดังนั้นแสงไฟจะไม่ใช่ปัญหาของการจัดเก็บวัตถุในห้องคลัง แต่ในส่วนของการจัดแสดง แสงไฟจะมีผลเป็นอย่างมาก ฉะนั้นการจัดแสดงทุกครั้ง หลังจากที่เรานำวัตถุเข้าในตู้เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ต้องมาวัดแสงว่าอยู่ในค่าที่เหมาะสมหรือไม่ โดยปกติแล้วจะต้องอยู่ต่ำกว่า 50ลักซ์ ซึ่งวิธีการจัดแสดงของเราเป็นวิธีที่ถนอมผ้ามากที่สุด”


ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังมีส่วนทำให้ ทุกคนที่ได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ต่างได้เปิดโลกเปิดประสบการณ์อันน่าทึ่งผ่าน “ผ้า” สถานที่แห่งนี้ยังไม่ลืมที่จะมอบบทเรียนและความรู้ต่าง ๆ ให้ หากวันหยุดสุดสัปดาห์นี้คุณว่าง ลองไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

“คอลเลคชั่นที่เรานำมาจัดแสดงเป็นคอลเลคชั่นที่หาดูได้ยากและไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน เพราะฉะนั้นที่นี่ถือว่าเป็นจุดเช็กอินหนึ่งที่ควรจะมาชม เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของผ้า รวมถึงกระบวนการผลิตผ้า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯมีห้องกิจกรรมแนะนำเรื่องของกระบวนการผลิตผ้า มีฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่คุ้นตากันในภาพถ่ายหรือภาพข่าวพระราชสำนักที่จะได้เห็นกันอย่างใกล้ชิดและมีความสวยงาม วัตถุบางอย่างเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ฝีมือชั้นสูงในการทำ เช่น งานปัก งานทอที่มีความวิจิตรสามารถมาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ”

เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ คือ การเป็นสถานที่สำหรับทุกคนในครอบครัว “บุคคลทุกเพศทุกวัยเข้ามาชมได้ เราฝันอยากให้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นที่ ๆ พ่อแม่พาลูกมาหรือลูกพาพ่อแม่มา เราพยายามตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย ทั้งห้องนิทรรศการที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยแล้ว เรายังมีห้องกิจกรรมไว้สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่จะมาเรียนรู้กระบวนการทอผ้า อยากให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในทุกช่วงอายุ นอกเหนือจากนี้ ที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาคอนเทนต์ออนไลน์ให้เข้าถึงได้มากขึ้น

“ตอนนี้ในแผน 5 ปีของเรา จะมีการเปลี่ยนนิทรรศการทุกปี ฉะนั้นทุกคนสามารถมาชมนิทรรศการใหม่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ทุกปี รวมถึงห้องกิจกรรมใหม่ ก่อนหน้านี้ใครเคยเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ถ้ากลับมาใหม่หลังเดือนสิงหาคมนี้ จะได้ชมโฉมใหม่ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และหวังว่าโฉมใหม่นี้จะถูกใจทุกท่านที่มาชม” คุณปิยวรา กล่าว

ตลอด 10 ปีที่ได้เปิดดำเนินการมา พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นสถานที่ทำให้ผู้มาเยือนกลับไปพร้อมกับความทรงจำ ความรู้ และความเข้าใจที่ดีขึ้นในหลากหลายแง่มุม โดยทั้งหมดมี “ผ้า” เป็นสิ่งเชื่อมโยง และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

แบ่งปันความประทับใจในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

“พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศไทยทั้งในแง่ของการปฏิบัติงาน การอนุรักษ์ คอลเลคชั่น การออกแบบนิทรรศการ เห็นได้จากงานที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งนำงานละเอียดอ่อนมาก ๆ บอบบางมาก ๆ มาจัดแสดงได้ มีมาตรฐานสากล ซึ่งมหัศจรรย์มาก ๆ

“ทุกนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นคอลเลคชั่นที่เข้าถึงได้ง่าย งานการศึกษาต้องยอมรับว่าดีมาก ๆ มีกิจกรรมสร้างสรรค์ตลอด เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่น่าเบื่อหรือไปแล้วเหมือนห้องเก็บของ ตอบโจทย์ทุกคน เป็นพื้นที่การเชื่อมต่อของคนหลากหลายรุ่นวัย เป็นสิ่งที่สังคมเราต้องการ

“สำหรับครูหรือนักเรียน คอนเทนต์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าสามารถเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ได้กับหลายวิชามาก ๆ คนจะนึกว่าพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ คงจะเป็นวิชาศิลปะ แต่จริง ๆ มีจุดร่วมได้เยอะมาก สำหรับศิลปินและดีไซเนอร์ ที่นี่ให้แรงบันดาลใจ 100%พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีองค์ความรู้ดีมาก ๆ

“ผ้าไม่ใช่แค่เครื่องแต่งกาย ไม่ใช่ศิลปะที่อยู่ในกรอบ แต่คือ วิถีชีวิต ลายผ้าต่าง ๆ มาจากความเชื่อ มาจากผู้คนจริง ๆ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่โชว์อยู่ในห้องหรือบนบอร์ด

“พิพิธภัณฑ์ผ้าฯเป็นสถานที่ซึ่งงดงาม ได้ความรู้ และมีชีวิต … อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัส

“สิ่งที่อยากให้หรืออยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำผมอยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำงานร่วมกับนักออกแบบสิ่งทอรุ่นใหม่ซึ่งตอนนี้ในวงการมีหลายคนที่นำผ้าไทยมาต่อยอด เป็นการต่อยอดจากพระราชดำริของสมเด็จพระพันปีหลวง เราอยากเห็นพวกเขามีพื้นที่ เอามาต่อยอดให้เห็นว่า ดีไซเนอร์รุ่นใหม่เขาทำอะไรเก๋ ๆ ร่วมสมัยกันบ้าง”โอ๊ต มณเฑียร / ศิลปิน

“นิทรรศการหมุนเวียนที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นการสื่อสารความ สำคัญของผืนผ้าที่หลากหลายแบบเจาะลึก น่าสนใจในเรื่องข้อมูล การค้นคว้าเชิงลึกในแต่ละหัวข้อที่หยิบยกขึ้นมาจัดแสดง อย่างเช่น นิทรรศการผ้าบาติกของรัชกาลที่ 5ได้เชิญผู้ประกอบการจากอินโดนีเซียมาทำเวิร์คช็อปมีจัดแสดงวิธีการเขียนเทียน ขั้นตอนการทำ เราได้เรียนรู้กระบวนการ แล้วเข้าไปศึกษาลวดลาย ความสำคัญ ความหมายต่าง ๆ

“ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เดียวที่อุทิศให้กับเรื่องของผืนผ้าในประเทศไทย คือมรดก คือตัวตน จะทำให้เราสามารถเข้าใจวัฒนธรรมของตัวเองได้ในเชิงลึก ถ้าเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ที่ที่เคยไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีคุณภาพในการจัดงานค่อนข้างดี อยากให้รักษามาตรฐานตรงนี้เอาไว้

“สิ่งที่อยากให้หรืออยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำคือ การนำผ้าในเชิงประวัติศาสตร์มาตีความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการตีความในแบบเสื้อผ้าหรือว่างานศิลปะหรือว่าการปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผ้านี้มีชีวิตในเชิงร่วมสมัยมากขึ้น มากกว่าสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เช่นการเชิญศิลปินร่วมสมัยมาทำงานร่วม อย่าง เจฟฟ์ คูนส์ ซึ่งไปแสดงงานที่พระราชวังแวร์ซายส์ โดยพิพิธภัณฑ์คิดขึ้นมาว่าจะทำยังไงให้คนรวมเข้าไปกับตัวคอลเลคชั่นที่มีได้” เอก ทองประเสริฐ / ดีไซเนอร์

เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้าตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดแสดงงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าทั้งของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเป็นการสืบสานสมบัติทางวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในเขตพระราชฐานชั้นนอกริมกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ เป็นพื้นที่ซึ่งมีการบูรณะปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมหลายครั้งมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอาคาร 2ชั้นเป็นแถวยาวเมื่อ พ.ศ 2413 และพระราชทานนามหอรัษฎากรพิพัฒน์ เคยเป็นที่ทำการกรมพระคลังมหาสมบัติ สำนักงานธนาคารชาติไทย กรมธนารักษ์ ราชบัณฑิตยสถาน กองพระราชพิธี จากนั้นจึงว่างเว้นจากการใช้งาน

ใน พ.ศ. 2546 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้อาคารหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณารับเป็นประธานที่ปรึกษา ต่อมาในวันที่9พฤษภาคม 2555 พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูวิมานเทเวศร์กับประตูวิเศษไชยศรี โทรศัพท์0 2225 9420 และ0 2225 9530 โทรสาร0 2225 9431 เว็บไซต์ www.qsmtthailand.orgและ www.facebook.com/qsmtthailand

เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา15.30 น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่:150 บาท *ผู้สูงอายุ (อายุ65 ปีขึ้นไป): 80บาท *นักเรียน/นักศึกษา: 50 บาท *เด็กอายุ12-18 ปี: 50บาท *เด็กอายุต่ำกว่า12 ปี เข้าชมฟรี (*โปรดแสดงบัตรประจำตัว)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad