สำรวจเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ EIC มองโอกาสเม็ดเงินสะพัดภาคก่อสร้าง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สำรวจเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ EIC มองโอกาสเม็ดเงินสะพัดภาคก่อสร้าง

 

  สำรวจเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ EIC มองโอกาสเม็ดเงินสะพัดภาคก่อสร้าง 

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคก่อสร้าง และธุรกิจอื่นๆ เส้นทางที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้พาดผ่านมีความหลากหลาย รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งสายที่เปิดให้บริการแล้ว และที่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ภาคก่อสร้าง อีกทั้ง การพัฒนาพื้นที่จะกระตุ้นให้ตลาดที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เส้นทางที่พาดผ่านมีความคึกคักขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว ยังได้รับอานิสงส์จากผู้เดินทางสัญจรที่เพิ่มขึ้น ภาคก่อสร้างรับอานิสงส์จากเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท เป็นค่างานก่อสร้างและวางระบบราง เม็ดเงินจากการก่อสร้างและระบบรางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะทยอยเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปตามกิจกรรมการก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2022-2027 โดย EIC ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2024-2026 ราว 60,306 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จากอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ โครงสร้างยกระดับ และสถานี โดยเริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วน

การก่อสร้างไม่เพียงแต่เป็นโอกาสแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เท่านั้น แต่เม็ดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท ยังกระจายไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้ส่งต่องานก่อสร้างที่ซับซ้อนไม่มากให้แก่ผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) ที่เป็น SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างล้วนได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปริมาณมาก ทั้งปูนซีเมนต์ เหล็ก สายไฟ สายเคเบิล วัสดุด้านสถาปัตยกรรม โดย EIC ประเมินว่า เม็ดเงิน 63,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 78% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน รวมถึงความล่าช้าในการก่อสร้าง การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะหนุนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มี Backlog เพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มประสบการณ์การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยหนุนต่อการเข้าประมูลโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์ รวมถึงต้นทุนแรงงานยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ล่าช้า อาจส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อีกด้วย

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีความสำคัญอย่างไร ?

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทางประมาณ 23.6 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานีรวม 17 สถานี แบ่งเป็นรูปแบบทางใต้ดินจำนวน 10 สถานี และทางยกระดับจำนวน 7 สถานี โดยแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงแหล่งที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งรถไฟฟ้าสายที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ สายสีเขียวอ่อน (สุขุมวิท) สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-เตาปูน-หลักสอง) และสายสีม่วงเหนือ (เตาปูน–บางใหญ่) โดยการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสายสีม่วงเหนือ และสีม่วงใต้ ส่งผลให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดเส้นทางจะครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ยังเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติมในอนาคต เช่น สายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) และสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) กล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มีความสะดวกสบาย และรวดเร็วมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย ค้าปลีก การท่องเที่ยว โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้แบ่งเป็น 6 สัญญา ครอบคลุมการก่อสร้างเส้นทางของโครงการ ตั้งแต่สถานีเตาปูนไปจนถึงสถานีครุในจำนวน 5 สัญญา และการวางระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการจำนวน 1 สัญญา โดยปัจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทยอยส่งมอบพื้นที่และผู้รับเหมาก่อสร้างได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างจริงแล้ว โดยเริ่มต้นจากงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคในพื้นที่สาธารณะของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น ถนน ทางเท้า ซึ่งเป็นพื้นที่ในช่วงต้นสายของโครงการ เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง

ในขั้นตอนต่อไป

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมที่มีมูลค่าโครงการโดยรวมสูงถึงราว 124,320 ล้านบาท ในจำนวนนี้เม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 82,082 ล้านบาท เป็นค่างานก่อสร้างและวางระบบราง รองลงมาเป็นค่ารถไฟฟ้าและระบบ 19% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 23,679 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 13% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 15,945 ล้านบาท และอีก 2% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 2,614 ล้านบาท เป็นค่าบริษัทที่ปรึกษา ครอบคลุมการบริหารโครงการ/ควบคุมงานก่อสร้างโยธา และการกำกับการดำเนินงานโครงการ

กล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่การก่อสร้างและวางระบบราง ซึ่งจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ภาคก่อสร้างตั้งแต่ปี 2022-2027 อีกทั้ง ธุรกิจอื่น ๆ ยังได้รับอานิสงส์จากการพัฒนารถไฟฟ้าในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียง ที่น่าจะกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้จากทั้ง Real demand และนักลงทุน จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยสามารถระบายที่อยู่อาศัยคงค้าง หรือพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ ได้ รวมถึงราคาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ จึงกล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เส้นทางที่พาดผ่านให้คึกคักขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม

นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 รฟม. ได้ประเมินไว้ว่า หลังจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เปิดให้บริการแล้ว น่าจะมีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 200,000 คน/วัน ประกอบกับพื้นที่เส้นทางที่รถไฟฟ้าพาดผ่านมีความหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่ราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา โรงพยาบาล แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงที่อยู่อาศัย อีกทั้ง ยังเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้โดยสะดวก ย่อมส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจค้าปลีก และการท่องเที่ยว ยังได้รับอานิสงส์จากจำนวนผู้เดินทางสัญจรที่เพิ่มขึ้น

ภาคก่อสร้างได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้อย่างไร ?

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีความก้าวหน้าในการดำเนินการเป็นลำดับ ประกอบกับเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 82,082 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างและวางระบบราง จึงกล่าวได้ว่าภาคก่อสร้างจะเป็นธุรกิจกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากการดำเนินการโครงการนี้ ทั้งนี้ภาคก่อสร้างมี Supply chain ที่เกี่ยวข้องหลากหลายธุรกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ผลิต และค้าวัสดุก่อสร้าง บริการด้านเครื่องจักรก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา ส่งผลให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระจายเม็ดเงินไปสู่ธุรกิจเหล่านี้ รวมถึงยังก่อให้เกิดการจ้างงานตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ไปจนถึงปี 2027 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดการก่อสร้าง และเริ่มเปิดให้บริการ

ทั้งนี้การเปิดประมูลงานก่อสร้างและระบบรางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลในด้านต่าง ๆ เช่น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ มูลค่าโครงการก่อสร้างเฉลี่ยต่อปีขั้นต่ำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการก่อสร้างภาครัฐ จากข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลดังกล่าว เป็นโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เข้าประมูลในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการ โดยผู้รับเหมาก่อสร้างที่ชนะการประมูลมีทั้งรูปแบบบริษัทรายเดียว และกิจการร่วมค้า (Joint venture)

EIC มองว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะช่วยหนุนให้มูลค่าการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในอดีตมูลค่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของมูลค่าการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม และการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญที่หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวตั้งแต่ในช่วงปี 2017-2019 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายสาย ทั้งสายที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องมาจากในอดีต ได้แก่ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ต่อมาในปี 2017 ได้มีการเริ่มต้นก่อสร้างสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-หลักสอง) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) รวมถึงในปี 2018 ยังมีการเริ่มต้นก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เพิ่มเติม ซึ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เหล่านี้ หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมโดยรวมในช่วงปี 2017-2019 ขยายตัวอย่างโดดเด่น

EIC มองว่า การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะช่วยหนุนให้มูลค่าการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมในปี 2022 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง คาดว่าในปี 2023 จะมีความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และการเปิดประมูลสายสีแดง ทั้งแดงเข้ม และแดงอ่อนหลายเส้นทาง ซึ่งการเปิดประมูลและการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ดังกล่าว จะยังคงมีบทบาทสำคัญที่หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2024-2026 EIC ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างราว 60,306 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จากอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น  จากการพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเสร็จที่ผ่านมา พบว่า อัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างจะเร่งตัวขึ้นในช่วงกลางของโครงการ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค บางซื่อ-ท่าพระ) ซึ่งมีระยะเวลาการก่อสร้างราว 8 ปี มีอัตราความก้าวหน้าในปีที่ 3-6 คิดเป็น 65% ของปริมาณงานก่อสร้างโดยรวม รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งมีระยะเวลาการก่อสร้างราว 5 ปี มีอัตราความก้าวหน้าในปีที่ 3-4 ถึง 80% ของปริมาณงานก่อสร้างโดยรวม ขณะที่หากพิจารณาความก้าวหน้าของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ อย่างสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)ก็พบว่า อัตราความก้าวหน้าในช่วงกลางของโครงการคิดเป็น 47-50% ของปริมาณงานก่อสร้างโดยรวม

สำหรับเม็ดเงินจากการก่อสร้างและระบบรางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะทยอยเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปตามกิจกรรมการก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยโครงการมีระยะเวลาการก่อสร้างราว 6 ปี จึงคาดว่าจะมีอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้นในช่วงกลางของโครงการ คือปีที่ 3-5 ของแผนการดำเนินการโครงการ หรือในช่วงปี 2024-2026 สำหรับในช่วงเริ่มต้นของโครงการ หรือในช่วงปี 2022-2023 เม็ดเงินส่วนใหญ่จะกระจายไปยังงานในส่วนสำนักงานการก่อสร้าง รวมถึงงานก่อสร้างในกลุ่มงานออกแบบถาวร (Permanent works) และงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการก่อสร้างในขั้นตอนต่อไปถัดมาในช่วงปี 2024-2026 ซึ่งเป็นช่วงกลางของโครงการ ความก้าวหน้าของงานก่อสร้างจะมีอัตราเร่งตัวขึ้น และมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างราว 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ โครงสร้างยกระดับ และสถานี โดยเริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วนสำหรับช่วงปลายของโครงการ หรือปี 2027 คาดเม็ดเงินส่วนใหญ่จะกระจายไปยังงานก่อสร้างในกลุ่มงานลานจอดรถไฟฟ้า ลานจอดรถ รวมถึงงานถมกลับ คืนผิวจราจร ปรับปรุงทางเท้า และเกาะกลางถนน       

นอกจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะสร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่แล้ว EIC ประเมินว่า เม็ดเงินราว 63,883 ล้านบาท จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง โดยต้นทุนการก่อสร้างโครงการภาครัฐ จะประกอบด้วยค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างผู้รับเหมาช่วง ค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร และค่าดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นั้น นอกจากจะสร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการแล้ว ยังมีเม็ดเงินกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs จากการจ้างผู้รับเหมาช่วง รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง จากการจัดหาวัสดุก่อสร้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างอีกด้วย ซึ่ง EIC คาดว่า มูลค่าเม็ดเงินอยู่ที่ราว 63,883 ล้านบาท[1] หรือคิดเป็นสัดส่วน 78% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเม็ดเงินกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs ราว 28,619 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง และอีกราว 35,264 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบรางจะกระจายไปยังผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง

ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มีการทำ Subcontract งานก่อสร้างที่มีความซับซ้อนไม่มากนักให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการมีความสามารถในการดำเนินงานก่อสร้างประเภทที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมการก่อสร้างขั้นสูง และความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างเฉพาะด้าน ได้แก่ งานอุโมงค์ งานก่อสร้างทางยกระดับ และงานวางระบบราง โดยมูลค่างานก่อสร้างในกลุ่มนี้รวมกันอยู่ที่ 25,239 ล้านบาท ทั้งนี้ในบางสัญญาเป็นการดำเนินงานก่อสร้างในรูปแบบ Joint venture ระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะยิ่งส่งเสริมให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี จากกิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่มีความหลากหลาย ส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มีการทำ Subcontract งานก่อสร้างบางประเภทให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่มีความซับซ้อนไม่มากนัก ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างทั่วไป และไม่ต้องการความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างเฉพาะด้าน ได้แก่ งานในส่วนของสำนักงานการก่อสร้าง งานก่อสร้างบางประเภท เช่น รื้อย้ายสาธารณูปโภค ก่อสร้างสถานี ลานจอดรถไฟฟ้า อาคารจอดรถ ถมกลับ คืนผิวจราจร ปรับปรุงทางเท้า และเกาะกลางถนน ส่งผลให้บางส่วนของเม็ดเงินในการก่อสร้างงานในกลุ่มนี้ จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs ที่จะมีโอกาสรับงานก่อสร้างในฐานะผู้รับเหมาช่วง

นอกจากนี้ ผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จากการที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูง ส่งผลให้จะมีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างระหว่างดำเนินการก่อสร้างปริมาณมากตามไปด้วย EIC มองว่า ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัสดุก่อสร้างหลัก อย่างปูนซีเมนต์ เหล็ก และวัสดุอื่น ๆ รวมถึงบริการเครื่องจักรก่อสร้างจะมีปริมาณมากในช่วงปี 2024-2026 ไปตามการเร่งตัวของความก้าวหน้าในงานก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ในงานก่อสร้างอุโมงค์ โครงสร้างยกระดับ และสถานี อีกทั้ง เริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วน รวมถึงความต้องการใช้สายไฟ และสายเคเบิล จะมีปริมาณมากในช่วงปี 2025-2026 เพื่อใช้ในงานวางระบบราง สำหรับในช่วงปี 2026-2027 ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของการก่อสร้าง จะมีความต้องการวัสดุด้านสถาปัตยกรรม เพื่อตกแต่งสถานที่ให้พร้อมเปิดให้บริการ

ทั้งนี้การทำสัญญาคำสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างปริมาณมาก จะส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มีอำนาจต่อรองด้านราคา และปริมาณคำสั่งซื้อสูง นับเป็นความท้าทายของผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างท่ามกลางภาวะต้นทุนวัสดุก่อสร้างยังอยู่ในระดับสูงไปตามราคาพลังงาน ส่งผลให้ผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการราคาขาย และควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไรในการขายวัสดุก่อสร้างสำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นี้ต่อไป

โอกาส และความท้าทายในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีอะไรบ้าง ?

EIC มองว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะหนุนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มี Backlog เพิ่มเติม สร้างรายได้ให้กับกิจการ รวมถึงเพิ่มประสบการณ์การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ในระยะที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างภาคเอกชนมีความซบเซาจากผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการเข้าประมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น โดยการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างราว 6 ปี จะหนุนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มี Backlog เพิ่มเติม และสามารถสร้างรายได้ให้กับกิจการได้ตามอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างในอนาคต ในภาวะที่การก่อสร้างภาคเอกชนอาจยังฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เป็นปัจจัยหนุนต่อการเข้าประมูลโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟฟ้า ที่จะมีการเปิดประมูลการลงทุนในรูปแบบ PPP อีกหลายสาย รวมถึงยังเป็นโอกาสของผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในการรับงานซ่อมบำรุงในระยะข้างหน้าอีกด้วย

นอกจากนั้น ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในประเทศได้รับอานิสงส์จากทั้งปริมาณความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมากขึ้น และนโยบาย Made in Thailand ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นการเลือกใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมหลายโครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นี้ คาดว่าจะมีการนำนโยบาย Made in Thailand มาเป็นแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในประเทศ โดย EIC มองว่า ความต้องการใช้เหล็กจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะหนุนให้ผู้ผลิตเหล็กมีแนวโน้มใช้กำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และยังพึ่งพาเหล็กนำเข้าในสัดส่วนสูง สำหรับผู้ผลิตปูนซีเมนต์จะได้รับอานิสงส์ในด้านปริมาณความต้องการใช้มากขึ้นเช่นกัน แต่นโยบาย Made in Thailand อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตปูนซีเมนต์มากนัก เนื่องจากเป็นการใช้จากผู้ผลิตในประเทศเป็นหลักอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญกับความท้าทายในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ทั้งต้นทุนก่อสร้างที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น และความล่าช้าในการดำเนินการก่อสร้าง ผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2022 ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไปตามราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์ ส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนของผู้รับเหมาก่อสร้างในปี 2022 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี EIC มองว่า ปริมาณความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ค่อนข้างมีความแน่นอนไปตามแผนการก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถวางแผนจัดหาวัสดุก่อสร้างได้ล่วงหน้า จึงยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่บางรายยังมีบริษัทในเครือที่ผลิตวัสดุก่อสร้างเอง ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนวัสดุก่อสร้างได้บางส่วน รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างยังเผชิญกับจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างที่ลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่กลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาด ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานในปี 2022 ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2021 และอาจลากยาวไปตลอดในช่วงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ทั้งนี้การพัฒนาเทคนิคเชิงวิศวกรรม รวมถึงนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหล่อชิ้นส่วนสำเร็จรูป จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยสามารถช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง และบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานในการก่อสร้างได้ อีกทั้ง ผู้รับเหมาช่วง ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งยังมีการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างอย่างไม่แพร่หลายมากนักก็อาจเริ่มนำ Building Information Modeling (BIM) มาช่วยบริหารจัดการการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของโครงการเมกะโปรเจกต์ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะมีการก่อสร้างพาดผ่านสถานที่ราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมาก จึงอาจต้องจับตาประเด็นการส่งมอบพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่หน่วยงานราชการในเขตบางซื่อ และเขตดุสิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างอุโมงค์ที่อาจล่าช้าออกไป ส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ จากการที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะมีการก่อสร้างพาดผ่านพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในเขตพระนคร ที่อาจค้นพบวัตถุทางโบราณคดีระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทางใต้ดิน ซึ่งอาจทำให้ต้องชะลอการก่อสร้างในช่วงระหว่างการสำรวจของหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/purpleline-14072


ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์


กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์, นักวิเคราะห์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

กีรติญา ครองแก้ว, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad