พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการบรรยายพิเศษ “เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดีย ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการบรรยายพิเศษ “เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดีย ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์”

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการบรรยายพิเศษ “เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดีย ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์”

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย ผ่านการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดีย ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์” โดยศาสตราจารย์ ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี เพื่อบ่งบอกถึงความเกี่ยวเนื่องทางประวัติศาสตร์ ผ่านหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี อีกทั้งเนื้อหาที่นำมาบรรยายยังเกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกาย ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์ผ้าได้

การบรรยายพิเศษในครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ท่ามกลางความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังมากมายภายในห้องประชุมของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ พร้อมเปิดโอกาสให้ร่วมพูดคุยซักถามในบรรยากาศเป็นกันเอง โดยศาสตราจารย์ ดร. เขษฐ์ ได้สรุปเนื้อหาจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๙ เกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปะอินเดียในสมัยคุปตะ ปัลลวะ และปาละ ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมของเทวรูปต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรศรีวิชัย เช่น

  • ทรงผมและศิราภรณ์ อาทิ ชฎามกุฎ ชฎาภาร กิรีฎมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ตาบประเภทต่างๆ
  • สร้อยพระศอและยัชโญปวีต อาทิ อชินยันชโญปวีต มุกตยัญโชปวีต
  • กฏิสูตร เข็มขัด และผ้านุ่ง อาทิ เข็มขัดในศิลปะคุปตะสกุลช่างสารนาถ ศิลปะปาละ โจฬะ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. เชษฐ์ ยังได้นำภาพถ่ายประติมากรรมเก่าแก่ทั้งของอินเดียและเอเชียอาคเนย์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มาใช้ประกอบการบรรยายได้อย่างน่าสนใจ ก่อนจะสิ้นสุดการบรรยายท่ามกลางเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมงาน ที่ได้รับความรู้และความประทับใจจากกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้

“ผมศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์อินเดียมานานกว่า ๑๕ ปีแล้วครับ เพราะศิลปะอินเดียมีเสน่ห์บนความซับซ้อน น่าหลงใหล และน่าตื่นเต้น จะเห็นได้จากการแต่งกายและเครื่องประดับของประติมากรรมต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวอินเดียในสมัยโบราณ ทั้งยังส่งอิทธิพลมาถึงประติมากรรมของเทวรูปและรูปเคารพต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งผมต้องขอบคุณทางพิพิธภัณฑ์ผ้าเป็นอย่างมากที่เปิดโอกาสให้ผมได้จัดการบรรยายพิเศษในครั้งนี้” ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ กล่าวทิ้งทาย

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังจัดแสดงนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ”พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมสนุกกับการเรียนรู้เรื่องผ้าในห้องกิจกรรม “ปัก : ถัก : ทอ” (Woven Dialects)  เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพกว่า ๔๖ ปี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น. บัตรเข้าชมผู้ใหญ่ ราคา ๑๕๐ บาท ผู้สูงอายุ (๖๕ ปีขึ้นไป) ราคา ๘๐ บาท นักเรียนหรือนักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ ๑๒ – ๑๘ ปี ราคา ๕๐ บาท เด็กอายุต่ำว่า ๑๒ ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad