ส่งออกอัญมณี ส.ค.ลด 10.44% ลุ้นจับจ่ายปลายปี เพิ่มยอด แนะใช้กลยุทธ์ USE ขายสินค้า
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ส.ค.66 มูลค่า 573.11
ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 10.44% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 801.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด
27.14% รวม 8 เดือน ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 5.47% รวมทองคำ ลด 17.55%
เผยทิศทางส่งออก ยังต้องจับตาเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐฯ และยูโรโซนที่ชะลอตัว
แต่ยังมีลุ้นเทศกาลจับจ่ายปลายปี ช่วยกระตุ้น แนะผู้ส่งออกใช้กลยุทธ์ USE
สร้างความแตกต่างให้สินค้า
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ
(องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ
ไม่รวมทองคำ เดือนส.ค.2566 มีมูลค่า 573.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.44%
หากรวมทองคำ มีมูลค่า 801.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 27.14% และรวม 8 เดือน
ของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 5,357.56
ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.47% และรวมทองคำ มูลค่า 8,970.33 ล้านเหรียญสหรัฐ
ลดลง 17.55%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม
146.04% อิตาลี เพิ่ม 43.73% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 21.14% สิงคโปร์
เพิ่ม 53.59% ส่วนสหรัฐฯ ลด 12.01% เยอรมนี ลด 19.72% สหราชอาณาจักร ลด
10.43% เบลเยียม ลด 7.33% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 8.02% อินเดีย ลด 59.34%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม
27.36% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 8.94% พลอยก้อน เพิ่ม 27.78%
พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 85.44% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 130.56%
เพชรก้อน เพิ่ม 1.88% ส่วนเพชรเจียระไน ลด 31.75% เครื่องประดับเงิน ลด
14.58% เครื่องประดับเทียม ลด 9.29% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า
ลด 21.80% และทองคำ ลด 37.72%
นายสุเมธกล่าวว่า ทิศทางการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากนี้
ต้องจับตาเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดสำคัญ อย่างสหรัฐฯ
ยังคงชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจยูโรโซน ที่ชะลอตัวเช่นเดียวกัน
และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงที่เหลือของปีนี้
แต่ก็หวังว่า การเข้าสู่ช่วงจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลท้ายปี
จะกระตุ้นให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
และการซื้อสินค้าเพื่อเป็นรางวัลให้ตนเองและเป็นของขวัญคึกคักมากขึ้น
จึงอาจมีส่วนทำให้มีแรงซื้อสินค้าเข้ามามากขึ้น รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า
ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
ทั้งนี้ GIT มีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยในช่วงที่ตลาดชะลอตัว
ควรจะใช้แนวทาง USE โดย U : Unique
ให้เน้นการพัฒนาสินค้าให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง
มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจเฉพาะตัว S : Soft Power
ใช้ประโยชน์จากการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการ
โดยอาจเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว
ซึ่งเป็นที่รู้จักถึงความเป็นไทยในนานาประเทศ และ E : E-Commerce
ศึกษาการใช้ช่องทางการนำเสนอสินค้าที่เหมาะสม
สร้างช่องการติดต่อสื่อสารออนไลน์กับผู้บริโภคให้สะดวกรวดเร็ว
รวมทั้งมีช่องทางชำระเงินและจัดส่งสินค้าที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย เชื่อถือได้
รวมทั้งต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก
แล้วนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ
ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างและนำเสนอคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ตรงใจลูกค้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น