เอบีม คอนซัลติ้ง ชี้ปัจจัยการเจริญเติบโตของธุรกิจ
Telehealth และธุรกิจประกัน ในยุคของ AI และการก้าวสู่สังคมผู้
สูงวัยเต็มรูปแบบ
(กรุงเทพฯ ประเทศไทย) ในโลกยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่อุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ จะดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองเท่านั้น การที่ตลาดจะเกิดขึ้นใหม่ได้มักต้องอาศัยการประสานที่ลงตัวของธุรกิจหลากหลายสาขา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจ Telehealth[1] ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมโดยตรงกับธุรกิจการรักษาพยาบาล แต่ยังมีผลต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ผู้เล่นในตลาดที่สังเกตเห็นความเชื่อมโยงนี้ต่างเริ่มบุกเบิกหาช่องทางสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ทำให้แวดวง Telehealth กลายเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในระยะหลังมานี้ โดยเฉพาะหลังจากภาวะการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจ Telehealth และธุรกิจประกันต่างมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและเจริญเติบโตขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ปัจจัยแรก คือการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐที่เริ่มต้นใช้ Telehealth ในการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียวที่สามารถรักษาตัวที่บ้าน จนกระทั่งในปัจจุบัน ได้มีการให้บริการครอบคลุมถึง 42 กลุ่มอาการพื้นฐาน สำหรับชาวไทยทั้งที่อาศัยทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งยังขานรับเทรนด์นี้ ด้วยการเพิ่มช่องทางออนไลน์สำหรับการติดต่อและการให้การดูแลรักษา ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจ Telehealth ยังมีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เกิดขึ้นอีกด้วย
การที่มีผู้ใช้บริการ Telehealth มากขึ้น เกิดเป็นแนวโน้มควบคู่กับมูลค่าการใช้จ่ายต่อรายที่สูงมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคเรื้อรังที่สามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเชื่อมต่อให้ข้อมูลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้าน โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคมีความยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบออนไลน์
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ Telehealth บางประการยังมีบทบาทสำคัญต่อแนวโน้มของธุรกิจประกันอีกด้วย โดยเฉพาะการประกันชีวิตและประกันสุขภาพ สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ (ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 14% ของประชากรทั้งหมด) ค่าใช้จ่ายโดยรวมในการรักษาพยาบาลจึงเพิ่มสูงขึ้นราว 5-8% ต่อปี ส่งผลต่อความต้องการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพมากยิ่งขึ้น ความก้าวหน้าของ AI ยังช่วยเพิ่มนวัตกรรมในการให้บริการ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ตลาดประกันเติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI ในการให้บริการด้านสุขภาพในระดับยุทธศาสตร์ เห็นได้จากร่างแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่มีเป้าหมายในระยะแรกว่าด้วยการพัฒนาการแพทย์และสุขภาวะของประชากร การสนับสนุนบริการแพทย์ทางไกลมีความเป็นไปได้สูงที่จะช่วยให้การรักษาพยาบาลเข้าถึงง่ายขึ้นและค่าใช้จ่ายถูกลง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การใช้ช่องทางออนไลน์ในการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ตัวแทนประกันและช่องทางธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำธุรกิจประกันชีวิตและประกันสุขภาพในประเทศไทย อย่างไรก็ดี สัดส่วนของช่องทางการขายและให้บริการต่าง ๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตจากการเข้ามาของบริษัทใหม่ ๆ โครงการใหม่ ๆ หรือกฎหมายที่เอื้ออำนวยมากขึ้น
ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น Third Party Administration (TPA) ผู้ให้บริการสนับสนุนการดำเนินการด้านการพิจารณาและชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ยังได้รับผลบวกจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยยังมีบริษัท TPA อยู่เพียงไม่กี่ราย โดยมี Blue Venture TPA ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอย่างชัดเจน ในบางประเทศ ขอบข่ายการให้บริการของ TPA ครอบคลุมไปถึงการจัดการให้การรักษาอย่างเช่น Telehealth รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการ TPA ซึ่งอาจมีผลต่อความน่าดึงดูดของธุรกิจนี้ เช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไทยพิจารณาออกกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน การเติบโตของตลาด TPA อาจสะดุดลงได้เป็นการชั่วคราว
ธุรกิจการประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) มีแนวโน้มการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิตโดยมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีอยู่ที่ราว 5.7% จนถึงปี พ.ศ. 2570 โดยตลาดมีความต้องการมากขึ้นจากกฎหมายที่บังคับใช้ให้รถยนต์ต้องมีกรมธรรม์ รวมถึงการประกันแบตเตอรี่ที่มาพร้อมกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า การประกันภัยเสริมความงาม และความกังวลต่อผลจากภัยธรรมชาติ ตลาดประกันวินาศภัยในไทยมีการแข่งขันสูงมาก และยังไม่มีเจ้าตลาดที่ชัดเจน เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ประกันรถยนต์ ประกันภัยทางทะเล ประกันอัคคีภัยและทรัพย์สิน เป็นต้น แม้ว่าการซื้อขายประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะทำผ่านโบรกเกอร์ แต่ช่องทางดิจิทัลก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน
จากตัวอย่างแนวโน้มการพัฒนาของธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพและยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าเราอยู่ในยุคที่ธุรกิจต่าง ๆ ไม่มีขอบเขตตายตัวอีกต่อไป ผู้ประกอบการและบริษัทต่าง ๆ ต้องคิดนอกกรอบเพื่อให้เกิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้น ความเข้าใจอย่างรอบด้านเกี่ยวกับแนวโน้มในภาพกว้างและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในธุรกิจหลายหลายสาขาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คาดการณ์อนาคตได้อย่างมั่นใจ สำหรับการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เอบีม คอนซัลติ้ง สามารถให้ความสนับสนุน ตั้งแต่การวางแผนธุรกิจไปจนถึงการนำไปปฏิบัติอย่างสมดุล ซึ่งครอบคลุมการวางแผนระดับยุทธศาสตร์ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร การวิเคราะห์ข้อมูล และการรวมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
##
เกี่ยวกับบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีทีมงานกว่า 7,800 คน ที่ให้บริการลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชีย อเมริกา และยุโรป เปิดให้บริการที่ปรึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการลูกค้าด้วยความเชี่ยวชาญในบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์, BPR, IT, การจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, Outsourcing, การให้คำปรึกษาและบริการด้าน SAP, ESG และการบริการการจัดการด้าน IT เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในฐานะพันธมิตรที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ อุตสาหกรรมและสังคมให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อทางอีเมลที่ thabmarketing@abeam.com หรือเข้าชมเว็บไซต์ของเราเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.abeam.com/th/en
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น