ไทย-เยอรมนีร่วมจัดการน้ำเสียชุมชน เดินหน้าพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไทย-เยอรมนีร่วมจัดการน้ำเสียชุมชน เดินหน้าพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ


ไทย-เยอรมนีร่วมจัดการน้ำเสียชุมชน เดินหน้าพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กรุงเทพฯ 23 พฤศจิกายน 2561 –  องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย จัดพิธีปิดโครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบน้ำและน้ำเสีย (WaCCliM) ประเทศไทย โดยโครงการฯ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำและน้ำเสียให้แก่พื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ของประเทศ

ขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส ทุกภาคส่วนได้เริ่มวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ระบุว่าการบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลคิดเป็นร้อยละ 47.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนของเสียในประเทศไทย หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศ จากแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปีพ.ศ. 2564-2573 ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากภาคการจัดการน้ำเสียไว้ที่ 700,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปีพ.ศ. 2573

โครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบน้ำและน้ำเสีย หรือโครงการ WaCCliM ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ให้เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 โดยมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำและน้ำเสีย สนับสนุนให้มีนโยบายรองรับในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำและน้ำเสีย และบูรณาการการถอดบทเรียนเข้าสู่แนวทางสากล ในส่วนของประเทศไทยได้ให้คำแนะนำทางด้านแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียให้กับพื้นที่นำร่อง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี และทางด้านนโยบายให้กับองค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อเป็นรากฐานและกรอบการทำงานสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียชุมชนในอนาคต ผลที่ได้จากโครงการฯ จะเป็นแนวทางให้ระบบน้ำเสียแห่งอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป

ผลงานที่ได้จากความร่วมมือภายในโครงการฯ คือ เครื่องมือ ECAM (Energy Performance and Carbon Emissions Assessment and Monitoring) ซึ่งเป็นเครื่องมือตัวแรกที่ใช้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งใช้ในการติดตามผล รายงาน และทวนสอบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคส่วนน้ำประปาและน้ำเสีย จากผลการตรวจประเมินเบื้องต้นจากระบบสาธารณูปโภคน้ำเสีย แสดงให้เห็นว่าพื้นที่นำร่องสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 7,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือประมาณร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับการดำเนินงานปกติ

นายชีระ วงศบูรณะ รักษาการผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นประเด็นหลักที่ อจน. ให้ความสำคัญ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมกับเทศบาลในการจัดระบบการจัดการน้ำเสียชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการน้ำเสียชุมชนและผลกระทบของน้ำเสียชุมชนที่มีต่อแหล่งน้ำ เนื่องจากการบำบัดน้ำเสียและการใช้ไฟฟ้าภายในระบบบำบัดล้วนส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของเครื่องมือ ECAM ที่เราได้รับจากโครงการ WaCCliM นั้น ได้มีการประยุกต์ผลลัพธ์จากเครื่องมือ ECAM นำไปใช้ภายในศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำเสียประเทศไทย ให้มีการรายงานผลก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์และผลก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องมือ ECAM จะสามารถแสดงผลผ่านเว็บเพจของ อจน. ซึ่งเครื่องมือ ECAM นั้นได้มีการเปิดให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ wacclim.org โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมทั้งมีแนวทางการคำนวณและเอกสารการฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ที่มีความสนใจในเรื่องการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนน้ำเสีย ทั้งนี้ อจน. พร้อมที่จะต่อยอดการดำเนินงานและฝึกอบรมการใช้งานเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแห่งอื่นๆ ที่ อจน. จะเข้าไปสนับสนุนต่อไป”

นางสาวชุติมา จงภักดี ผู้จัดการโครงการฯ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการดำเนินงาน โครงการ WaCCliM ประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุน อจน. ทั้งด้านการให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียและการกำหนดนโยบายสำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียชุมชนของประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญในการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ คุณภาพของข้อมูล ตลอดระยะเวลาการทำงาน GIZ และสมาคมน้ำนานาชาติ (IWA)  มุ่งเน้นการฝึกอบรมให้กับพนักงาน อจน. ในด้านการสร้างความเข้าใจถึงผลจากการจัดการน้ำเสียที่มีต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประเมินผลจากการใช้เครื่องมือ ECAM ด้วยตนเอง เพื่อให้พนักงาน อจน. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภาคส่วนน้ำเสีย สามารถเข้าใจความสำคัญของการเก็บข้อมูลการทำงานและผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบบำบัดที่ตนดูแลอยู่ เนื่องจากข้อมูลเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้กำหนดนโยบายการจัดการน้ำเสียชุมชนในอนาคต เพื่อพัฒนาชุมชนให้สามารถก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน”

------------------------------------------------------------------------
เกี่ยวกับ อจน.
องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ มีหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ. 2538 และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2540 และปี พ.ศ. 2548 คือ การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับการบำบัดน้ำเสียภายในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย และการให้บริการรับบริหารหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย รวมทั้งบริการหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเดินระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับ GIZ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ  รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ  สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ ราว 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 19,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ www.giz.de

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ปริยา วงศาโรจน์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
โทร. 02 661 9273 ต่อ 165
อีเมล pariya.wongsarot@giz.de

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad