กระทรวงแรงงานจับมือ GIZ พัฒนาช่างแอร์ ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติครั้งแรกในไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กระทรวงแรงงานจับมือ GIZ พัฒนาช่างแอร์ ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติครั้งแรกในไทย

กระทรวงแรงงานจับมือ GIZ พัฒนาช่างแอร์ ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติครั้งแรกในไทย



ภาพ (จากซ้าย)
นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และมร.ฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ของ GIZ


กรุงเทพฯ 15 พฤศจิกายน 2561 - กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้มีความชำนาญ ผ่านการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครั้งแรกในประเทศไทย

นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า “ในปี 2562 พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายเร่งด่วนมอบหมายให้ กพร. ดำเนินการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Workerและพัฒนาทักษะฝีมือให้มีมาตรฐานรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกำชับให้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ในการผลิตกำลังคนในสาขาอาชีพที่ยังขาดแคลน กพร. จึงร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) พัฒนาช่างเทคนิคให้มีความชำนาญในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job)

“กพร. จะได้รับการสนับสนุนจาก GIZ ในแง่การถ่ายทอดความรู้ให้กับช่างเทคนิคเรื่องการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ถูกต้อง การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการฝึกอบรม รวมทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีมาให้ความรู้ในการฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกของ กพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการและช่างชุมชน คาดว่าจะเริ่มฝึกอบรมภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ตั้งเป้าฝึกอบรมครูฝึกจำนวน 48 คนทั่วประเทศ และคาดว่าจะขยายผลการอบรมแก่ช่างเทคนิคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ให้ได้อีก 2,000 คนใน ปี” นางถวิล กล่าวเสริม

ด้านมร.ฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA)ของ GIZ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ กพร. เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของโครงการ RAC NAMA ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในสาขาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้มีความชำนาญและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนการจัดฝึกอบรมนำร่องให้กับครูฝึก ความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือ การให้ความรู้และฝึกทักษะการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (เช่น มาตรวัดน้ำยาแอร์ ปั๊มสุญญากาศ) สัญลักษณ์ความปลอดภัย วิธีการเติมและดูดกลับสารทำความเย็น เป็นต้น นอกจากนี้โครงการฯ ได้จัดตั้งกองทุน RAC NAMA ประเทศไทย ซึ่งบริหารโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจะจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าว เพื่อใช้จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับฝึกอบรมแก่ศูนย์ฝึกที่ผ่านการคัดเลือก เรามุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยให้มีความเป็นเลิศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล”

---------------------------------------------------------

ข้อมูลโครงการ RAC NAMA
โครงการ RAC NAMA มีจุดประสงค์หลักในการสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ โครงการจะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยโครงการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่านกองทุนNAMA Facility

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ปริยา วงศาโรจน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทร. 02-661-9273 ต่อ165 อีเมล pariya.wongsarot@giz.de

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad