ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤศจิกายน 2561 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤศจิกายน 2561

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤศจิกายน 2561

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 11 เดือนแรกปี 2561 
ขยายตัวร้อยละ 2.99
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2561  ขยายตัวร้อยละ 0.98 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก ได้แก่ รถยนต์ น้ำตาลทราย    น้ำมันปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร รวมทั้งกระเป๋า
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) 11 เดือนแรกปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.99 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 0.98 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกใน    เดือนพฤศจิกายน 2561 ได้แก่ รถยนต์ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร รวมทั้งกระเป๋า
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ 
  1. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 7.13 จากเครื่องยนต์ดีเซล รถปิกอัพ และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลัก จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการขาย 
  2. น้ำตาลทราย  ขยายตัวร้อยละ 236.44 จากการเปิดหีบเร็วกว่าปีก่อน 10 วัน (20 พ.ย.61) ตามปริมาณผลผลิตอ้อย   ที่มีมากเพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างเหมือนปีก่อน
  3. น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 11.24 จากแก๊สโซฮอล 95 และน้ำมันดีเซลเป็นหลัก ตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
  4. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผ่นวงจร ขยายตัวร้อยละ 6.45 จาก Other IC และ PCBA ตามการขยายตัวของตลาดชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ทั้งในประเทศและตลาดโลก
  5. กระเป๋า ขยายตัวร้อยละ 125.03 เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งปีนี้ลูกค้าสั่งผลิตกระเป๋าขนาดเล็กราคาถูกจำนวนมาก โดยเป็นลูกค้าจากตลาดในประเทศเป็นหลัก

สรุปภาวะอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนพฤศจิกายน ปี 2561
  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนพฤศจิกายน หดตัวร้อยละ 6.2  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป ในขณะที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน 
  2. อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศมีการขยายตัวอันเนื่องมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่มีการชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว การผลิตรถยนต์เดือนพฤศจิกายนปี 2561 มีจำนวน 197,020 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.49 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ร้อยละ 59 และรถยนต์ เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 1
  3. อุตสาหกรรมสาขาอาหาร การผลิตในภาพรวมเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.8 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำตาลทรายดิบเนื่องจากปีนี้เข้าสู่ฤดูการเปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อนที่ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง รวมทั้งการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เพื่อทดแทนน้ำมันปาล์ม ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออก เศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารในภาพรวมปรับตัวลดลงในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 จากการชะลอตัวในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำตาล ข้าวขาว ลำไย กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง ส่วนสินค้าที่ส่งออกขยายตัว อาทิ แป้งมันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวหอมมะลิ และเครื่องดื่ม
  4. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศ หดตัวลดลงร้อยละ 9.74 และ 4.78 ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์/จักรยานในประเทศเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวร้อยละ 12.53 และ 9.94 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวลงของตลาด Replacement สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจหดตัวร้อยละ 33.15 ตามการขยายตัวของการส่งออก ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศหดตัวร้อยละ 14.16 ในภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.53 และ 9.74 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยในสินค้ายางรถยนต์และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีการขยายตัวที่ดี 
  5. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัวร้อยละ 7.89 ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลาเจน เส้นใยอาระมิด สำหรับผ้าผืนหดตัวร้อยละ 1.95 โดยลดลงในกลุ่มผ้าทอฝ้าย เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงงานทอผ้ายกเลิกสายการผลิตผ้าฝ้าย ซึ่งความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตผ้าทอใยสังเคราะห์ยังคงขยายตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ 2.40 ในกลุ่มชุดชั้นในสตรี อย่างไรก็ตาม การผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรียังคงขยายตัวการจำหน่ายในประเทศ เดือนพฤศจิกายน ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอหดตัวร้อยละ 3.48 เนื่องจากมีการนำเข้าเส้นใยยาวคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก ในส่วน   ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 8.64 และ 5.38 ตามลำดับ การส่งออก เดือนพฤศจิกายน ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนหดตัวร้อยละ 8.30 และ 1.49 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และจีน ลดลง สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 6.44 จากการที่ไทยได้รับความไว้วางใจในการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ
  6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน หดตัวร้อยละ 3.2 และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ โดยเหล็กทรงแบน หดตัว ร้อยละ 3.3 เป็นการลดลงในผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นรัดร้อนชนิดม้วน สำหรับเหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.9 เป็นการลดลงในผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นกลม เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น และเหล็กเส้นข้ออ้อย การบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงแบนขยายตัวร้อยละ 14.8 สำหรับการบริโภคเหล็กทรงยาวหดตัวร้อยละ 20.1 จากการบริโภคเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน  โดยการส่งออกเหล็กทรงยาวขยายตัวร้อยละ 69.6 แต่การส่งออกเหล็กทรงแบนหดตัวร้อยละ 0.6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad