2ปีโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไปไฮสปีด 'ไพรินทร์' แนะเพิ่มขบวนซิตี้ไลน์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

2ปีโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไปไฮสปีด 'ไพรินทร์' แนะเพิ่มขบวนซิตี้ไลน์

2ปีโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไปไฮสปีด 'ไพรินทร์' แนะเพิ่มขบวนซิตี้ไลน์



รฟฟท.พร้อมบริหารรถไฟสายสีแดง ประเดิม เม.ย.ปีหน้า ส่งเจ้าหน้าที่เริ่มอบรมเรียนรู้ระบบ ก่อนเปิดให้บริการจริงต้นปี 2564 ขณะที่รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์โอนรวมไฮสปีด 3 สนามบินภายใน 2 ปีนี้ ลั่นซ่อมบำรุงรถพร้อมให้บริการครบ 9 ขบวน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าขบวนที่ 9 บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ว่า ขณะนี้แอร์พอร์ตลิงค์ถือว่ามีความพร้อมให้บริการผู้โดยสารอย่างเต็มความสามารถ เพราะมีขบวนรถที่พร้อมให้บริการครบทั้ง 9 ขบวนแล้ว อีกทั้งยังมีอะไหล่เตรียมพร้อมที่จะซ่อมบำรุงขบวนรถให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และหลังจากส่งมอบแอร์พอร์ตลิงค์ให้ผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ก็น่าจะต้องมีการลงทุนขบวนรถเพิ่ม
“ขณะนี้แอร์พอร์ตลิงค์มีศักยภาพมาก โดยซ่อมบำรุงและนำขบวนรถมาให้บริการครบ 9 ขบวนในรอบ 6 ปี มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัจจุบันมีสถิติผู้โดยสารสูงสุดถึง 8.6 หมื่นคนต่อวัน ดังนั้นเมื่อเอกชนผู้ชนะประมูลไฮสปีดเทรนเข้ามาบริหารแอร์พอร์ตลิงค์ก็ควรซื้อขบวนรถเพิ่ม ส่วนทีมบริหารแอร์พอร์ตลิงค์นี้ ในอนาคตที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม และแดงอ่อน ตอนนี้ก็มอบหมายให้ทีมแอร์พอร์ตลิงค์นี้เข้าไปบริหารเดินรถ และเชื่อว่าจะบริหารได้อย่างดีเยี่ยม”
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ กล่าวว่า รฟฟท.มีความพร้อมไปบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยในเดือน เม.ย.2562 จะทยอยส่งพนักงาน 52 คนไปอบรมระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และพนักงาน 500 คนของ รฟฟท.ก็จะถูกโอนย้ายไปบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งหมด อีกทั้งจะต้องเปิดรับเพิ่มอีก 200 คน เพราะจากการประเมินต้องมีพนักงานรวม 773 คน
ส่วนการโอนสิทธิ์บริหารรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ให้เอกชนผู้ชนะการประมูลโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มีกำหนดโอนให้เสร็จภายใน 2 ปีหลังจากลงนามสัญญา ซึ่ง รฟฟท.จะส่งมอบขบวนรถทั้ง 9 ขบวน รวมไปถึงทรัพย์สินอื่น โดยการดำเนินงานระหว่างนี้ รฟฟท.จะไม่สั่งซื้อขบวนรถ อุปกรณ์หรืออะไหล่ที่ไม่จำเป็น จะเน้นหลักจัดซื้อเพื่อคงรักษาระบบความปลอดภัย อะไหล่ติดตั้งที่จำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้ รฟฟท.ได้ซ่อมบำรุงขบวนรถให้สามารถใช้บริการครบทั้ง 9 ขบวนแล้ว โดยอยู่ระหว่างทดสอบระบบขบวนรถที่ 9 คาดว่าจะนำมาให้บริการได้ในต้นเดือน ม.ค.2562 ซึ่งจะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 หมื่นคนต่อวัน เพิ่มสูงขึ้นเป็น 8-9 หมื่นคนต่อวัน อีกทั้งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ รฟฟท.อีกราว 6% ในปี 2562 จากฐานรายได้ในปีนี้ปิดอยู่ที่ 740 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร การก่อสร้างคืบหน้า 60-70% โดย รฟท.เลื่อนกำหนดให้บริการจากเดิมกลางปี 2563 เป็นต้นปี 2564 เพราะรถขบวนสุดท้ายที่ญี่ปุ่นจะส่งมอบให้ในเดือน มิ.ย.2563 และต้องทดสอบระบบอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่ง รฟฟท.จะเป็นผู้บริหารการเดินรถและต้องอัพเกรดบริษัทใหม่ เพิ่มขอบเขตงานและทุนจดทะเบียน เป็น 3,000 ล้านบาท ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ชี้แจงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เกี่ยวกับขั้นตอนการอัพเกรด
ทั้งนี้ รฟท.ยังคาดการณ์ว่า ปีแรกของการเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีแดงจะยังขาดทุนก่อน แต่คาดหวังว่าจะมีผู้โดยสารมากพอที่จะถึงจุดคุ้มทุนได้ใน 3-5 ปี โดยจะต้องมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน อีกทั้ง รฟท.และบริษัทลูกที่บริหารรถไฟฟ้าสายสีแดง จะต้องวางแผนในการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก โดยเฉพาะที่สถานีต้นทางและปลายทางอย่างรังสิต ตลิ่งชัน รวมไปถึงจูงใจประชาชน ให้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์มาใช้รถไฟสายสีแดง

ที่มา : กรุงเทพธุระกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad