คมนาคมดันสะพานแม่น้ำโขง สร้างเพิ่มอีก 2 แห่ง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

คมนาคมดันสะพานแม่น้ำโขง สร้างเพิ่มอีก 2 แห่ง

คมนาคมดันสะพานแม่น้ำโขง สร้างเพิ่มอีก 2 แห่ง


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นถือเป็นพื้นที่สำคัญในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ร่วม 24 ปีที่ผ่านมา หลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 เชื่อม จ.หนองคาย-เวียงจันทน์ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ในปัจจุบันมูลค่าการค้าผ่านแดนเฉพาะสะพานแห่งนี้เพียงแห่งเดียวก็ทะลุปีละกว่า 1 แสนล้านบาทมานานนับ 10 ปี กระทั่งมีการขยายการพัฒนาก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันรวม 4 แห่ง
ยิ่งการเติบโตของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม การเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างกันก็มีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งในอนาคตประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง รวมทั้งหมด 8 แห่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ อาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวถึงแผนการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงภาคอีสานและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในระหว่างลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ โดยเฉพาะระบบรางมากเป็นประวัติการณ์ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนด้านการขนส่ง ทั้งนี้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยนั้นมีการเติบโตในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคอีสานนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันเน้นหนักในเรื่องของการพัฒนาการขนส่งระบบรางและการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อครบทุกจังหวัด ซึ่งการขนส่งทางบกและทางรางมีความคืบหน้าอย่างมาก ขณะที่ทางอากาศนั้นมีการพัฒนาแล้วในหลายจังหวัด แต่ถึงอย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้มองไปถึงระบบโลจิสติกส์เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ในระบบฐานรากได้มากที่สุด ดังนั้นจึงต้องมาบริหารจัดการเรื่องขนส่งมวลชนในเรื่องของการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย
“การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ จ.นครราชสีมา-ขอนแก่น การก่อสร้างมีความคืบหน้ามากถึง90% สำหรับส่วนต่อขยายขอนแก่น-หนองคาย กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ สำหรับการก่อสร้างรถไฟส่วนต่อขยายชุมทางบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น-มุกดาหาร-นครพนม นั้น เข้าสู่การเตรียมเสนอต่อ ครม.เช่นกัน”
รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า โครงการที่กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการเพิ่มเตรียมเสนอเข้า ครม.ให้ทันพร้อมกันคือการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี-ปากเซ สปป.ลาว เนื่องจากการประชุมร่วม ครม.ไทยและ สปป.ลาว เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ และแนวทางการก่อสร้างโครงการรถไฟเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติมอีก 1 เส้นทาง
สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะ 2 นครราชสีมา-หนองคาย เข้าสู่ขั้นตอนของการนำเสนอเพื่อของบประมาณในการออกแบบการก่อสร้าง เพื่อให้ทันต่อช่วงระยะเวลาของการขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างในปี 2562
รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับการก่อสร้างโครงการถนนนั้น ในปี 2562 จะเน้นไปที่การขยายช่องทางการจราจรเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านที่ จ.บึงกาฬ  ซึ่งจะสอดรับกับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว  อีกทั้งยังคงมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6  เชื่อม จ.อุบลราชธานี และแขวงสาละวัน
“ในอนาคตก็มีโครงการที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพขึ้นอีก 1 แห่ง ที่เราเรียกว่าสะพานแห่งที่ 8 ซึ่งจะเป็นสะพานเฉพาะรถไฟ รวมรถไฟธรรมดาและรถไฟความเร็วสูงไว้ในสะพานแห่งนี้ ซึ่งสะพานแห่งที่ 8 นี้เป็นสะพานความร่วมมือระหว่างไทย-สปป.ลาว และจีน”
ทั้งนี้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 8 นั้น ในแผนโครงการกำหนดว่าจะเชื่อม จ.อุบลราชธานี กับแขวงจำปาสัก ประเทศลาว
สำหรับการพัฒนาสนามบินนั้น รมว.คมนาคม บอกว่า การพัฒนาท่าอากาศยานในภาคอีสานมี 2 ระยะ คือ การปรับปรุงอาคารเดิมและการก่อสร้างอาคารใหม่ โดยขณะนี้เป็นการก่อสร้างอาคารใหม่ครอบอาคารเก่าที่ สนามบินขอนแก่น ส่วนในปี 2563 สนามบินเลยจะได้รับงบประมาณในการขยายตัวอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ สำหรับสนามบินอุบลราชธานีอยู่ในช่วงของการปรับปรุงอาคาร ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562  ส่วนสนามบินบุรีรัมย์และสนามบินเพชรบูรณ์ จะเข้าสู่การปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารในปี 2562 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวทั้งหมดที่กระทรวงคมนาคมที่ดำเนินการนั้น จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามขั้นตอนต่างๆ ให้ได้มากที่สุดในรัฐบาลชุดนี้
และล่าสุด 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ก็เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี (2563-2565 ) ในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ
เป็นอีกขั้นของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์รองรับการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีการพัฒนาเติบโตรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
สะพานมิตรภาพฯ ประตูการค้าอินโดจีน
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1   หนองคาย-เวียงจันทน์ เปิดใช้ปี 2537สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2   มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เปิดใช้ปี 2549สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3   นครพนม-คำม่วน เปิดใช้ปี 2552สะพานมิตรภาพไทยะลาว 4   เชียงของ-ห้วยทราย เปิดใช้ปี 2556สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 5   บึงกาฬ-บอลิคำไซ คาดว่าจะเริ่มประมูลและก่อสร้างในปี 2562สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 6   นาตาล-ละครเพ็ง คาดว่าจะเปิดประมูลและก่อสร้างในปี 2564สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 7   เลย-แขวงเวียงจันทน์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว  8  อุบลราชธานี-จำปาสัก

ที่มา : post today

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad