จุฬาเดินหน้าสร้างสมาร์ทซิตี้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561

จุฬาเดินหน้าสร้างสมาร์ทซิตี้


จุฬาเดินหน้าสร้างสมาร์ทซิตี้
Twitter
Line
Comment
จุฬาฯเดินหน้า ปั้นสมาร์ทซิตี้

ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบริหารโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน หรือพีเอ็มซียู ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเพื่อให้เกิดมูลค่ารวมสูงสุดคืนสู่สังคม โดยนำที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 มาพัฒนาและนำรายได้กลับคืนสู่มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างรากฐานทางการศึกษาแบบยั่งยืน ปัจจุบันที่ดินของมหาวิทยาลัยเขตปทุมวัน มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,153 ไร่
ทั้งนี้ แบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท คือ เขตพื้นที่การศึกษา 637 ไร่ เขตพื้นที่พาณิชย์ 385 ไร่ และเขตพื้นที่ราชการยืมและเช่าใช้ 131 ไร่ โดยจัดการทรัพย์สินภายใต้แนวคิด โค-ครีเอติ้ง แชร์ แวลู (Co-Creating Share Valued) ที่พัฒนาคุณค่าทั้ง 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ 1.เลิร์นนิ่ง สไตล์ จัดสรรพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ทั้งทางด้านนันทนาการและวิชาการ 2.ลิฟวิ่งสไตล์ จัดสรรที่พักในเมืองให้เกิดพื้นที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย โดยบูรณะย่านชุมชนเก่าให้เหมาะกับยุคสมัยควบคู่กับการรักษาวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณใกล้เคียง รวมถึงวางผังเมืองสอดคล้องกับนวัตกรรมใหม่ พร้อมจัดการพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นประโยชน์กับสังคม และ 3.ไลฟ์สไตล์การจัดการด้านร้านอาหาร การบริหารทุกรูปแบบ เป็นศูนย์นันทนาการที่ตอบโจทย์ได้ทุกรูปแบบ และส่งเสริมธุรกิจแบรนด์ไทยชั้นนำ เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม ในฐานะผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางการนำที่ดินมาพัฒนาในปี 2562 จะให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่า สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม รวมถึงรองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ขณะเดียวกัน การพัฒนาพื้นที่จะไม่เน้นสร้างโครงการขึ้นมาก่อนแล้วปล่อยเช่าภายหลัง แต่จะสร้างหรือปล่อยให้เอกชนร่วมคิดและพัฒนาโครงการให้มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์การสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ปีหน้าจะเห็นการนำพื้นที่บริเวณสวนหลวง นำมาพัฒนาบริเวณบล็อก 28 เป็นอาคารสำนักงานขนาดเล็ก สูง 3 ชั้น จำนวน 5 อาคาร ซึ่งจะมีเนื้อที่รวม 1.5 หมื่นตารางเมตร รองรับลูกค้ากลุ่มครีเอทีฟ สตาร์ทอัพ รวมไปถึงเทคโนโลยีสตาร์ทอัพต่างๆ มาเช่าพื้นที่ โดยมูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการออกแบบใช้เวลาดำเนินการรวดเร็วเนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก
นอกจากนี้ จะพัฒนาพื้นที่ตรงข้ามเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ หรือโบนันซ่าเดิมพื้นที่ 63 ไร่ มาพัฒนาเป็นโครงการสยาม สเคป บริเวณบล็อก H จะประกอบด้วยศูนย์การเรียนรู้ อาคารสำนักงานสมัยใหม่และพื้นที่ร้านค้า พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกออกแบบให้เป็นพาร์คกิ้งโหมด เนื่องจากจะมีอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท สามารถจอดรถได้กว่า 700 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ให้เป็นถนนคนเดินให้เต็มรูปแบบมากขึ้น หรือพัฒนาในรูปแบบ มัลติยูส โดยโครงการสยามสเคปคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2563 ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 25 ชั้น มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท
“ตอนนี้การพัฒนาพื้นที่ในสยามสแควร์ค่อนข้างแน่นแล้ว และเดิมเรามีสยามกิตติ์เป็นที่จอดรถฝั่งอังรีดูนังต์ แต่เรายังไม่มีที่จอดรถฝั่งถนนพญาไท ซึ่งโครงการสยามสเคป จะรองรับการจอดรถด้วย จากนั้นเราจะปิดถนนสยามสแควร์ซอย 7 ช่วงเย็นเพื่อทำเป็นถนนคนเดินรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค”
ขณะที่แผน 5 ปีข้างหน้ายังเตรียมนำพื้นที่อื่นมาพัฒนาเพิ่มเติม เช่น ศูนย์บริการทางการแพทย์ โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ หรือ Smart Intellectual Society เบื้องต้นได้เปิดรับฟังความเห็นจากนักลงทุน พบผู้สนใจจำนวนมากในการสร้างโรงพยาบาลใจกลางเมือง โดยศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมหรืออัตราส่วนพื้นที่ชั้นต่อพื้นที่ที่ดินหรือเอฟเออาร์ 7:1 ไปจนถึง 10:1
ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้มีการก่อสร้างอุทยาน 100 ปี บนเนื้อที่ 30 ไร่ มีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 4 กับบริเวณสนามศุภชลาศัย การเดินทางภายในจะใช้ระบบขนส่งมวลชนเบาหรือรถรางไฟฟ้าล้อยาง ที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือรูปแบบการเช่า มีทั้งระยะ 3 ปี 5 ปี 7 ปี 15 ปี 20 ปี และหากพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ภายใต้พระราชบัญญัติร่วมทุนจะมีระยะยาว 30 ปี เป็นต้น ซึ่งล่าสุด พีเอ็มซียู ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่ลิโดเดิมเพื่อให้เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรม เป็นโครงการลิโด้ คอนเนก ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท เลิฟอิส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โดยมีสัญญาการเช่าพื้นที่ 5 ปี
“ความท้าทายของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ในการพัฒนาที่ดิน คือการสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ไม่ใช่ว่าจะทุบไล่ที่ แต่ต้องการให้ผู้ประกอบการมาช่วยกันคิด เราต้องการพัฒนาที่ดิน สังคมต้องการอะไรให้มาบอกเรา แต่อย่าลืมด้วยว่าอีกมุมทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ต้องสร้างรายได้ ธุรกิจอะไรสร้างคุณค่าได้และรายได้ ต้องไปด้วยกัน”
โจทย์สำคัญในการพัฒนาที่ดินของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ นั้น เริ่มจากการวางผังแม่บทให้เห็นการพัฒนาพื้นที่โดยรวมที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน เพื่อให้เกิดเป็นเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ รองรับกับนวัตกรรมการสร้างสรรค์ให้เกิดสังคมอุดมปัญญาของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad