ศธ.ผุดสถาบันไทยโคเซ็น ผลิตวิศวกรนักปฏิบัติป้อน EEC - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศธ.ผุดสถาบันไทยโคเซ็น ผลิตวิศวกรนักปฏิบัติป้อน EEC


ศธ.ผุดสถาบันไทยโคเซ็น ผลิตวิศวกรนักปฏิบัติป้อน EEC



ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมกะโปรเจ็กต์ด้านการศึกษา โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ภายใต้งบประมาณ 4,700 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 13 ปี จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นในการนำความสำเร็จของสถาบันโคเซ็น 51 แห่งของญี่ปุ่นมาจัดตั้งสถาบันโคเซ็นแห่งที่ 52 และ 53 ในประเทศไทย
สถาบันดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้กับประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมจะร่วมดำเนินการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับการเพิ่มปริมาณการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างชาติในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศ ตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบ
โดยล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัว โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น เพื่อผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ พร้อมกับการลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยร่วมผลิต โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.อิซาโอะ ทานิกูชิ ประธานสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น, ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ดร.อัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น วิทยาเขตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือโคเซ็น สจล. (KOSEN Kmitl) ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2562 และสถาบันไทยโคเซ็น วิทยาเขตพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) ที่จะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2563
“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า สถาบันไทยโคเซ็นถือเป็นสถาบันที่สำคัญต่อการผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ เนื่องจากหลักสูตรโคเซ็นมีความแตกต่างจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยเฉพาะระยะเวลาเรียนตลอดหลักสูตร 5 ปี ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติควบคู่กับภาคทฤษฎี และการสร้างพื้นฐานความรู้ในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจความเป็นมนุษย์ มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความสามารถทางการสื่อสารทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น
“อีกทั้งการเรียนการสอนของสถาบันโคเซ็นจะเน้นการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมทักษะที่เหมาะสมกับการผลิตในอุตสาหกรรม เน้นการจัดการศึกษาให้นักศึกษามีพื้นฐานวิชาการด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์วิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มข้น เน้นการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (work-integrated learning) โดยนำโจทย์วิจัยจากภาคอุตสาหกรรมมาใช้ในการเรียนการสอน และการทำวิจัยเพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคอุตสาหกรรม”
“ดังนั้น โคเซ็น สจล.จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการพัฒนาหลักสูตร และดำเนินการสอนโดยคณาจารย์ของสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น โดยจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 24 คน ในหลักสูตรวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) ที่บูรณาการศาสตร์เกี่ยวกับระบบเครื่องกล ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุม และคอมพิวเตอร์ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์”
“อีกทั้งนักศึกษาทุกคนจะได้ไปแลกเปลี่ยนในสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น พร้อมโอกาสฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญจะคัดเลือกนักศึกษา 15% ไปศึกษาต่อในสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 ปีอีกด้วย”
“รศ.ดร.คมสัน มาลีสี” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวเสริมว่า สถาบันโคเซ็น สจล.ถือเป็นสถาบันแรกของประเทศไทยที่ได้รับการออกแบบหลักสูตรด้านวิศวกรรรมศาสตร์ที่เข้มข้น ทั้งภาควิชาการ และภาคปฏิบัติกับประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำร่องการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) หรือการเรียนด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมในหลากหลายแขนง
“ความพิเศษของสถาบันโคเซ็น สจล.คือการเป็นสถาบันเชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย โดยตลอดหลักสูตร 5 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันโคเซ็น ควบอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก สจล. โดยการเรียนการสอนในช่วงปี 1-2 จะทำการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และปีที่ 3-5 เป็นภาษาญี่ปุ่น และในช่วงก่อนสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น”
“ส่วนเนื้อหาของหลักสูตรจะยึดตามแนวทางของระบบโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น 100% และหลังจากสำเร็จการศึกษาสามารถเลือกบัณฑิตที่สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอีก 2 ปี ในสถาบันชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศต่อไป”
“ที่สำคัญหลักสูตรนี้ยังฝึกให้นักศึกษาเป็นนักวิจัยที่มีความสามารถตรงตามความต้องการของบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำ โดยนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรโคเซ็นจะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมชั้นนำของญี่ปุ่น เนื่องจากมีพาร์ตเนอร์จากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะมาร่วมเป็นเทรนเนอร์ให้กับนักศึกษาสำหรับการปฏิบัติงานจริง โดยในปี 2562 สถาบันโคเซ็น สจล.จะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 24 คนในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาลอีกด้วย”
จึงนับเป็นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยและภูมิภาคต่อไป


ที่มา : prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad