“พาณิชย์”นำระบบ “บล็อกเชน” อำนวยความสะดวกการค้า ช่วย SMEs ทำธุรกิจ-เข้าถึงแหล่ง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

“พาณิชย์”นำระบบ “บล็อกเชน” อำนวยความสะดวกการค้า ช่วย SMEs ทำธุรกิจ-เข้าถึงแหล่ง

“พาณิชย์”นำระบบ “บล็อกเชน” อำนวยความสะดวกการค้า ช่วย SMEs ทำธุรกิจ-เข้าถึงแหล่งทุน

img
“พาณิชย์”จับมือสถานทูตอังกฤษ นำร่องใช้ “บล็อกเชน” มาช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เตรียมลุยโครงการระยะสั้น 1 ปี เชื่อมโยงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองส่งออก กับระบบบล็อกเชนของธนาคาร มั่นใจช่วย SMEs ทำธุรกิจได้คล่องตัว และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านการเงิน ส่วนระยะยาว เล็งทำระบบบล็อกเชนเชื่อมตั้งแต่หนังสือรับรอง การขนส่ง และขยายระบบส่งออก-นำเข้า จนถึงการติดตามย้อนกลับ         

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยจัดประชุมเพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศของไทย เพราะบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาปฏิวัติสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในยุคดิจิทัล ด้วยคุณลักษณะสำคัญของบล็อกเชน โดยเฉพาะการกระจายฐานข้อมูล ทำให้เกิดความเชื่อมั่น โปร่งใส และไว้วางใจ รวมทั้งการมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว ช่วยลดปัญหาการหลอกลวงและป้องกันปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน

“กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการการเงิน และการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และมีสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มักจะมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อหรือได้รับอนุมัติในวงเงินต่ำ เนื่องจากเหตุผลด้านความเสี่ยง เพราะไม่เชื่อมั่นในเอกสาร มีการปลอมแปลงเอกสาร หรือมีโอกาสผิดพลาดสูง และเอกสารที่ใช้มีจำนวนมาก เช่น ใบแจ้งหนี้ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองการส่งออก ใบตราส่งสินค้าทางเรือ และเอกสารประกอบอื่นๆ อีกทั้งการติดต่อสื่อสารของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการค้าระหว่างประเทศก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลาหลายวัน ดังนั้น บล็อกเชนจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ ทั้งเรื่องการบริการการเงินและการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า สามารถดำเนินโครงการระยะสั้นได้ทันทีภายใน 1 ปี ได้แก่ การเชื่อมโยงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และหนังสือรับรองการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ จากกรมการค้าต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย เข้ากับระบบบล็อกเชนของธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเงินเพื่อการค้าแบบตราสารเครดิต (L/C) และแบบบัญชีเปิด (Open Account)

ส่วนโครงการระยะ 3-5 ปี มีข้อเสนอจากผลการศึกษา เช่น 1.โครงการการจัดทำระบบ Cross-border Blockchain หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและหนังสือรับรองการส่งออก ของกรมการค้าต่างประเทศ 2.โครงการจัดทำระบบบล็อกเชน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ในการขนส่งและการนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ 3.โครงการขยายระบบบล็อกเชน เพื่อรองรับ Next-Generation National Single Window ด้านการส่งออก 4.โครงการขยายระบบบล็อกเชนรองรับ Next-Generation National Single Window ด้านการนำเข้า 5.โครงการพัฒนาระบบบล็อกเชน เพื่อการติดตามย้อนกลับในห่วงโซ่สินค้า (Blockchain Traceability for Supply Chain) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad