คลอดไกด์ไลน์คุมค้าส่งค้าปลีก กำหนด 8 พฤติกรรมต้องห้าม พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ก่อนออกประกาศบังคับ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

คลอดไกด์ไลน์คุมค้าส่งค้าปลีก กำหนด 8 พฤติกรรมต้องห้าม พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ก่อนออกประกาศบังคับ


img
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจัดทำไกด์ไลน์คุมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่เอาเปรียบผู้ผลิต ซัปพลายเออร์ กำหนด 8 พฤติกรรมที่เข้าข่ายการทำการค้าไม่เป็นธรรม เผยล่าสุดเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ก่อนนำข้อมูลมาสรุปผลและจัดทำเป็นประกาศเพื่อนำมาใช้กำกับดูแลการทำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต่อไป
        
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ โฆษกกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. ... และให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป โดยจะเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ ผ่านทางเว็บไซต์www.otcc.or.th ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2562- วันที่ 28 พ.ค.2562 หลังจากสิ้นสุดช่วงระยะเวลาเปิดการรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำข้อมูลมาสรุปผลและพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศฯ ในประเด็นที่สำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยทันทีต่อไป

“กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับเดิม ได้กำหนดหลักปฏิบัติในการทำการค้าระหว่างธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย เอาไว้เป็นกรอบดำเนินงานภายใน ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ คณะกรรมการฯ เห็นว่า จะต้องมีหลักเกณฑ์ มีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน จึงได้ทำไกด์ไลน์ออกมา เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยก่อนที่จะออกประกาศฉบับนี้ ได้มีการประชุมหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งโมเดิร์นเทรด ผู้ผลิต ซัปพลายเออร์มาแล้ว”

สำหรับไกด์ไลน์ตามกฎหมาย ที่จะถือว่าเป็นพฤติกรรมของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่เข้าข่ายไม่เป็นธรรม มีจำนวน 8 ข้อ ได้แก่ 1.การกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม เช่น การกดราคารับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต่ำกว่าราคารับซื้อปกติ 2.การเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมการวางสินค้าพิเศษ ค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มหรือการขอส่วนลดในวาระพิเศษ และการเรียกรับส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าได้ตามเป้า 3.การคืนสินค้าไม่เป็นธรรม เช่น ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกคืนสินค้าโดยไม่มีเหตุผลและไม่ใช่ความผิดหรือความบกพร่องของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย การคืนสินค้าที่มีการสั่งซื้อในปริมาณมากเพื่อหวังส่วนลดทางการค้า การคืนสินค้า เพราะมีการปรับปรุงร้านค้าหรือคลังสินค้า 4.การใช้สัญญาการฝากที่ขายที่ไม่เป็นธรรม เช่น บังคับให้ผู้ผลิตหรือจำหน่ายเฉพาะรายทำสัญญาฝากขายแทนการทำสัญญาซื้อขายตามปกติ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกได้รับผลตอบแทนเหมือนสัญญาซื้อขาย

5.การบังคับให้ซื้อหรือจ่ายค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การบังคับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายให้ซื้อสินค้าบางส่วนหรือทั้งหมดอย่างไม่เป็นธรรม 6.การมอบหมายให้พนักงานของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปฏิบัติงานอย่างไม่เป็นธรรม เช่น บังคับให้มีพนักงานประจำ ณ ที่จำหน่ายของผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก โดยมีเจตนาเพื่อลดค่าใช้จ่ายของตน ยกเว้นได้รับการยินยอมจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย 7.การปฏิเสธการรับสินค้าที่สั่งซื้อหรือผลิตเป็นพิเศษของผู้สั่ง (Private Brand) หรือเป็นตราเฉพาะของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (House Brand) โดยไม่มีเหตุผล และ 8.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ เช่น ถอดสินค้าออกจากชั้นวางอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร การนำข้อมูลหรือความลับทางการค้าของคู่ค้าเพื่อผลิตสินค้าตราของตนเองแล้วนำมาวางจำหน่ายแข่งขันกับตราสินค้าปกติ

ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการฯ ฉบับนี้ เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นแนวทางในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 57 ซึ่งบัญญัติไว้ โดยห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในลักษณะดังต่อไปนี้  1.กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม 2.ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม 3.กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม และ 4.กระทำการในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad